ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กุ้งเครย์ฟิช" เอเลี่ยนสปีชีส์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม?

สิ่งแวดล้อม
23 มี.ค. 65
12:12
8,466
Logo Thai PBS
"กุ้งเครย์ฟิช" เอเลี่ยนสปีชีส์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประมงศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่เก็บซากกุ้งเครย์ฟิช หรือกุ้งกามแดง ขนาดความยาว 6.5 นิ้ว หลังโซเชียลพบตายในน้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ ระบุเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แนะเจอจับกินได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงใน จ.ราชบุรี ชี้ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ “Hardi Thin” โพสต์ภาพกุ้งสายพันธุ์หนึ่ง ในลักษณะนอนนิ่งอยู่บริเวณริมน้ำ พร้อมระบุข้อความ “น้ำตกศรีดิษฐ์ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ กับสิ่งที่เปลี่ยนไป” ลงในกลุ่มสังคมออนไลน์ ทำให้เพื่อนสมาชิกต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำธรรมชาติของไทย

วานนี้ (22 มี.ค.2565) ว่าที่ ร.ต.ชัยรัตน์ พุ่มช่วย ประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ มอบหมายให้น.ส.สมมาศ บุญยวง ประมงอำเภอศรีเทพ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล พร้อมกับทำการเก็บซากนำมาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าเป็นกุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช ความยาว 6.5 นิ้วหรือ 16 เซนติเมตร 

พร้อมระบุว่า กุ้งเครย์ฟิช เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ จะทำลายระบบนิเวศ แย่งที่อยู่อาศัย แย่งอาหาร และจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติกินเป็นอาหาร ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นลดน้อยลง หรือสูญพันธุ์ได้ หากพบควรทำลายทิ้ง หรือสามารถจับมาประกอบอาหารได้

สำหรับพื้นที่อำเภอเขาค้อ มีผู้เพาะเลี้ยงแจ้งขึ้นทะเบียนกุ้งเครย์ฟิช 2 แห่งอยู่คนละตำบลของพื้นที่เกิดเหตุ แห่งแรกที่ต.สะเดาะพง เลี้ยงจำนวน 2 ตัว และอีกแห่ง ต.หนองแม่นา เลี้ยง 6 ตัว โดยทั้งหมดเลี้ยงไว้บริโภคในครอบครัว

ผู้ประกอบการชี้ไม่กระทบสวล.มีศัตรูในธรรมชาติ

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ นายณรงค์วิชฌ์ มหาโชติ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงและจำหน่ายกุ้งก้ามแดงแบบครบวงจร ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีประสบการณ์เลี้ยงกุ้งก้ามแดงมานานถึง 10 ปี กล่าวว่า ตามธรรมชาติแล้วกุ้งก้ามแดง จะกินซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ เนื่องจากไม่สามารถว่ายน้ำได้ อีกทั้งยังเคลื่อนไหวช้า ทำให้ไม่สามารถจับเหยื่อมีชีวิตได้ และยังกลายเป็นผู้ถูกล่า อาศัยการเดิน และดีดตัวไปด้านหลัง เพื่อหลบหนีศัตรู

ศัตรูของกุ้งก้ามแดง ได้แก่ ปลาหมอ ปลาช่อน ปลานิล กุ้งแม่น้ำ และกบ กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจะใช้วิธีการกรองน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีไข่ หรือลูกปลาเหล่านี้หลุดรอดเข้ามาในบ่อเลี้ยง รวมไปถึงการล้อมด้วยตาข่ายป้องกันนก กบ นอกจากนี้กุ้งก้ามแดงยังไวต่อสารเคมี

แนะจับกินเป็นอาหาร ราคาแพง 200-250 บาท

นายณรงค์วิชฌ์ กล่าวว่า ในอดีตกุ้งก้ามแดงเคยมีราคาสูงถึงตัวละ 20 -100 บาท แต่ไม่นานกระแสความนิยมก็ลดลง ทำให้ราคาต่อตัวเหลือเพียงไม่กี่บาท หลายคนเห็นว่าเลี้ยงไปก็ไม่คุ้มทุน จึงเลิกเลี้ยง นำไปทำลายทิ้ง และบางส่วนนำไปปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นเดียวกับสัตว์ต่างๆ ที่เคยเป็นกระแสมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น อีกัวน่า ปลาช็อกเกอร์ และงูต่างประเทศ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ในฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงแบบครบวงจร ตั้งแต่เพาะขยายพันธุ์ ไปจนถึงส่งจำหน่ายตามร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน

 

นอกจากนี้ยังเลี้ยงนำปลาหางนกยูงมาเลี้ยงกับกุ้งก้ามแดง พบว่าปลาหางนกยูง ยังขยายพันธุ์ได้ไม่ถูกกุ้งก้ามแดงจับกินเป็นอาหาร ทำให้เป็นข้อพิสูจน์ ได้ว่ากุ้งก้ามแดงไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติอย่างแน่นอน

อยากให้ทุกคนมองว่านี้อาจจะเป็นโอกาสให้กับชาวบ้าน เพราะกุ้งก้ามแดงจับง่าย เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ รสชาติอร่อย สามารถจับไปประกอบอาหาร หรือจับไปขายสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี

โดยกุ้งก้ามแดงขนาดตัว 4 นิ้ว หรือน้ำหนัก 25 ตัวต่อกิโลกรัม จะซื้อขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท ปัจจุบันก็มีชาวบ้านจับกุ้งก้ามแดง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหลายจังหวัด มาส่งจำหน่ายให้กับตนเองเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง