จากกรณี น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม นักแสดงชื่อดัง ตกแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต ทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติไทยพีบีเอสลงพื้นที่ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ กับปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
กิตติพจน์ ศุภมาตรา ครูสอนดำน้ำอาสาสมัครกู้ภัย ระบุว่า เมื่อมีคนตกน้ำ และยังเห็นว่า อยู่บนผิวน้ำโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำ ห้ามลงไปช่วยโดยไม่มีอุปกรณ์ แต่ให้หาอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้โยนไปเพื่อให้เป็นที่พยุงตัวในน้ำ ก่อนเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะมาถึง ต่างจากการช่วยเหลือผู้สูญหายในน้ำ ทันทีที่ได้พิกัดของผู้สูญหายที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่จะ วางแผนประมินการค้นหาผู้สูญหาย
เมื่อชุดกู้ภัยลงไปในแม่น้ำทัศนวิสัยใต้น้ำที่มืดและขุ่นมัวแทบมองอะไรไม่เห็น เป็นข้อจำกัดที่นักกู้ภัยต้องเผชิญ หากการแจ้งพิกัดคลุมเครือ ไม่ชัดเจน การค้นหาอาจสูญเปล่า
ข้อมูลที่เราต้องการคือ ตกน้ำจริง มีคนยืนยันว่าตกจริง แล้วครั้งสุดท้ายที่เขาสูญหายไปเลย คือ หัวเขาจมน้ำหายไปเลยคือตรงไหน นี่คือข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่กู้ภัยต้องการ
การค้นหาผู้สูญหาย ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง เริ่มที่การลงไปคู่ ชุดปฏิบัติงานใต้น้ำ และด้านบน สื่อสารผ่านเชือกไกด์ไลน์ กระตุกเชือก 1 ครั้ง หมายถึงเดินหน้า กระตุก 2 ครั้ง ขยับซ้าย เพื่อให้เจอตัวผู้สูญหายให้เร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีของการค้นหาผู้สูญหาย อาจหมายถึงวินาทีของการรอดชีวิต
กิตติพจน์ ยังระบุอีกว่า เมื่อตกลงไปในน้ำ หากเกิน 4 นาทีผู้ประสบภัยจะไม่มีออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองแล้ว แม้ว่ากู้ภัยสามารถทำ CPR เพื่อช่วยให้ฟื้นได้ แต่สมองเขาจะหยุดทำงานจนต้องใช้ชีวิตแบบนอนนิ่ง แต่หากช่วยขึ้นมาได้ภายใน 4 นาที ออกซิเจนยังเลี้ยงสมองอยู่ เมื่อปฐมพยาบาลได้ทัน ผู้ประสบภัยจะรอดชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ ย้ำว่า หากบุคคลทั่วไป มีองค์ความรู้การช่วยเหลือเบื้องต้น สามารถป้องกันเหตุซ้ำซ้อนทั้งคนที่ช่วยเหลือ และผู้ประสบเหตุได้