นายสมนึก ท้าวพา หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ เปิดเผยภารกิจพื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย ตั้งเป็นคณะทำงานชุดที่ 11 (อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย) ตามคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าฯ เป็นเลขาคณะทำงาน ภายในคณะทำงานก็จะมี 15 หน่วยงาน เช่น หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ,หน่วยจัดการต้นน้ำฯ,โครงการพระราชดำริฯ ฯลฯ การทำงานดูแลพื้นที่ของตัวเองไม่ให้เกิดไฟป่า แต่ละหน่วยจะประชาสัมพันธ์ ลาดตระเวน เข้าควบคุมไฟ ถ้าเกินขีดความสามารถจะเรียกหน่วยข้างเคียงมาช่วยเหลือ
กรณีที่เกิดไฟป่าขนาดใหญ่เกินกำลังเจ้าหน้าที่ จะแจ้งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ที่รับผิดชอบพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ระดมหน่วยงานเข้าพื้นที่ดับไฟ
การดำเนินการดับไฟป่า ยังต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ จิตอาสา ท้องถิ่น สภาลมหายใจ เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ 56 เครือข่ายในและใกล้อุทยานฯช่วยกันดูแล ซึ่งจะมี 24 ชุมชนได้รับงบสนับสนุน 5 หมื่นบาทเข้ามาช่วยกันดูแล
ส่วนความพร้อมกำลังพลสามารถระดมได้จำนวน 200 คน จะมีการประชาสัมพันธ์ ทำแนวกันไฟ ลาดตระเวนตรวจหาไฟและดับไฟป่า
พื้นที่ดอยสุเทพด้านหน้าไม่สามารถจัดการเชื้อเพลิงได้ ทำให้มีเชื้อเพลิงสะสมจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพราะหากเกิดไฟป่าจะส่งผลกระทบกับคุณภาพอากาศของเมือง และสร้างความตระหนก
มาตรการนอกจากการป้องกันในฤดูไฟป่าแล้ว ยังมีการปิดป่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย. 65 มีชุดลาดตระเวนรถจักรยานยนต์ และลาดตระเวนเท้าหากเป็นบนพื้นที่สูงชัน และยังมีเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่า
ส่วนการวางกำลังพนักงานดับไฟป่ามี 4 จุด คือ ผาลาด,ห้วยตึงเฒ่า,แม่เหียะ และแม่แมะ (อ.แม่ริม) เฝ้าระวังพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จำนวน 1.6 แสนไร่ หรือพื้นที่ 257 ตร.ม. ครอบคลุมพื้นที่ใน 4 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ คือ อ.เมือง อ.หางดง อ.แม่ริม และ อ.แม่แตง มีกำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า 60 คน และบูรณาการจากคณะทำงานได้อีก 200 คน โดยพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ คือ รอบพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์, วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ และบริเวณเชิงดอยสุเทพด้านทิศตะวันออกใน ต.ช้างเผือก, ต.สุเทพ,ต.แม่เหียะ,ต.บ้านโป่ง เพราะหากเกิดไฟป่าจะสร้างความตระหนก กระทบค่าฝุ่นในเมืองซึ่งมีผู้อาศัยหนาแน่น และกระทบการท่องเที่ยว
ในเดือนมกราคม - 3 ก.พ.2565 อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เกิดไฟป่าแล้วจำนวน 4 ครั้ง ปี 2564 เกิดไฟป่า 45 ครั้ง และปี 2563 เกิดไฟป่า 102 ครั้ง ปีนี้ตั้งเป้าลดจุดความร้อนให้ได้ร้อยละ 30 ของค่าเฉลี่ยหลังสุด 3 ปีต้องเกิดจุดความร้อนไม่เกิน 141 จุด