กรณี "หมอกระต่าย" พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ถูกบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตระหว่างเดินข้ามทางม้าลาย คดีนี้กลายเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นอย่างไรต่อ การแก้ไข หรือป้องกันจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำขึ้นอีก
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบพบข้อมูลน่าตกใจว่า เฉพาะในกทม.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานว่ามีคนเดินข้ามถนนประสบเหตุเฉลี่ย 900 คนต่อปี
กทม.คนเดินถนนประสบเหตุเฉลี่ย 900 คนต่อปี
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า แต่ละปีมีคนไทย ได้รับผลกระทบความสูญเสียจากการข้ามถนน โดยข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุขปี 2559-2561 ระบุว่า ในแต่ละปี มีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนน ร้อยละ 6-8 หรือเฉลี่ย 800-1,000 คน
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า "คนเดินถนน" ประสบเหตุถึง 2,500-2,900 คนต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 อยู่ในเขตกทม. เฉลี่ย 900 คนต่อปี
ปัจจัยความเสี่ยง คนใช้ถนน
- ถนนมีลักษณะหลายช่องจราจร เวลาข้ามถนนต้องใช้ระยะเวลาอยู่บนถนนนาน และแม้จะมีบางช่องจราจรหยุด แต่ช่องจราจรด้านในมักจะไม่หยุด
- เมื่อมีคนข้าม รถในช่องทางชะลอ หรือหยุดแต่ช่องจราจรขวาสุดที่ขับขี่ด้วยความเร็ว มักไม่ได้ชะลอ และอาจมองไม่เห็นกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้จุดนี้เป็นอีกจุดอันตรายของการข้ามถนน ที่มักจะมีผู้เกิดเหตุและเสียชีวิต
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ หน่วยงานที่กำกับดูแลจะทำงานเข้มข้นขึ้น ระยะหนึ่งเรื่องก็เงียบไป ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง หลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้นๆ เพียงความประมาท หรือด่วนสรุปเพียงคนขี่หรือคนเดินข้ามประมาท
ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัย ที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการแบบเดิม ๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม
ย้อนเหตุการณ์คนข้ามทางม้าลาย เสี่ยงชีวิตบนถนน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ย้อนดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้า ช่วงปี 2557-2564 มีเหตุการณ์ใดบ้าง
- 18 ธ.ค.2557 ผู้สื่อข่าวบันเทิงสังกัดแกรมมี่ อายุ 29 ปี ถูกรถบรรทุกชน ขณะข้ามถนนที่มีสัญญาณคนข้าม ก่อนจะลากร่างไปอีก 5 เมตร เสียชีวิตในเวลาต่อมา
- 22 ก.พ.2558 เกิดอุบัติเหตุบริเวณถนนเจริญนคร มุ่งหน้าแยกปากคลองสาน นักศึกษาปริญญาโท ขับรถชนหญิงรายหนึ่ง คนขับให้การกับตำรวจว่า ระหว่างที่ขับรถกลับบ้าน เมื่อถึงจุดเกิดเหตุไม่เห็นผู้ตายข้ามทางม้าลาย จึงเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น
- 9 ก.พ.2562 ที่หน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.นครปฐม นักเรียนชั้นม.4 วิทยาลัยนาฏศิลป์ ถูกรถจักรยานยนต์ฝ่าไฟแดงชน ขณะกำลังเดินข้ามถนนตรงทางม้าลาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
- 5 ธ.ค.2562 บริเวณหน้าตลาดปิ่นทอง เขตบางบอน กรุงเทพฯ พบผู้เสียชีวิตเป็นหญิงอายุ 63 ปี นอนเสียชีวิตใกล้กับทางม้าลาย ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้เสียชีวิตกำลังข้ามถนนจากปากซอยเพื่อเดินไปที่ตลาดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ขณะนั้นมีรถจักรยานยนต์ขับมาด้วยความเร็วชนและชนผู้เสียชีวิตเข้าอย่างจัง
- 14 เม.ย.2564 พบร่าง น.ส.ธีราพร อายุ 23 ปี บริเวณหน้าวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ถูกรถกระบะพุ่งชน จากการตรวจสอบกล้องหน้ารถ ขณะเกิดเหตุ รถกระบะแซงซ้ายก่อนถึงทางม้าลาย และได้ชนผู้เสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย
20 วันอุบัติเหตุทางถนน มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบพันคน
ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ThaiRSC) เปิดเผยข้อมูลในปี 2564 พบว่ามีผู้บาดเจ็บ 879,940 คน เสียชีวิต 13,425 คน และจากการเฝ้าระวังในปี 2565 (1 ม.ค.-20 ม.ค.65) พบผู้บาดเจ็บ 52,459 คน เสียชีวิต 898 คน
เทียบกับช่วงสัปดาห์เดียวกัน ระหว่าง 9-15 ม.ค.ปีนี้ กับปี 2564 พบว่าในปีนี้มีจำนวนครั้งในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีจำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตสูงกว่า
สำหรับจักรยานยนต์ กลายเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รองมาเป็นรถยนต์ และพบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุทางถนนจำนวนหลายเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดจากรถบรรทุก และรถกระบะที่บรรทุกคนงาน และพืชผลทางการเกษตร ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเวลา 18.00-20.00 น. และ 16.00-18.00 น.เกิดอุบัติเหตุมากสุด
พฤติกรรม เสี่ยงอุบัติเหตุ
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวถึงความเสี่ยงของการเกิดอุบัติของคนเดินทาง โดยมีหลายปัจจัย เช่น การใช้ความเร็ว พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ไม่เคารพกฎจราจร ใช้โทร ศัพท์ขณะขับขี่ ความรีบเร่งในการใช้ทาง การลักข้ามถนนของคนเดินเท้า ข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอย ใช้โทรศัพท์ขณะข้ามถนน บางจุดไม่มีการติดตั้งป้ายเตือนคนข้ามหรือไม่มีการตีเส้นจราจรทางข้ามบริเวณทางแยกทำให้เสี่ยงมากขึ้น
สถิติอุบัติเหตุ "คนเดินเท้า" ปี 54 สูงถึง 2,000 คน
ย้อนสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุคนเดินเท้าปี 2554 จากข้อมูลสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จากอุบัติเหตุทั้งหมด 68,292 คน มีอุบัติเหตุคนเดินเท้า 2,612 คน เป็นอุบัติเหตุคนเดินเท้าในพื้นที่กทม.สูงถึง 1,099 คน เทียบอัตราการเกิดอุบัติเหตุคนเดินเท้าคิดเป็นร้อยละ 4.7
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่ดูแลควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขบริเวณที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุคนเดินเท้า ปกติทางม้าลาย จะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร ใช้สีขาวดำ และสีที่ใช้ต้องเป็นสีเทอร์โมพลาสติก ที่มีส่วนผสมของซิลิก้า หรือผงแก้ว ผงทรายทำให้เกิดความแวววาวมองเห็นระยะไกล ต้องมีป้ายเตือนก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อให้รถชะลอความเร็ว รวมถึงไฟส่องสว่างหากจุดนั้นต้องใช้ในเวลากลางคืน ที่สำคัญต้องมีการบำรุงรักษาอยู่ตลอดไม่ให้สีเลอะเลือน
ส่วนคนขับรถ เมื่อเห็นป้ายเตือนทางม้าลาย หรือมีสัญญาณไฟข้างหน้า ต้องลดความเร็วและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ขณะเดียวกันต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทุกกรณี
แนะข้ามถนน-ทางม้าลาย ให้ปลอดภัย
นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า คนเดินเท้าที่กำลังเดินข้ามถนนในทางม้าลายมีสิทธิไปก่อนรถ เพราะตามกฎหมายต้องหยุดให้คนข้ามถนนในทางข้ามทาง แต่จะต้องระวังให้โอกาสแก่รถที่ชะลอความเร็วและหยุดไม่ทัน ก่อนที่จะก้าวลงไปในถนน
ฝนตกถนนลื่นต้องระวังให้มาก แม้คนขับรถจะหยุดให้ข้าม ต้องข้ามด้วยความระมัดระวัง มองขวา-ซ้าย และข้ามอย่างรวดเร็ว อย่ามัวแต่เดินเล่นโทรศัพท์
นอกจากนี้ การข้ามถนนในช่องทางข้ามที่บริเวณทางแยกให้ระวังรถที่จะเลี้ยว มีเกาะกลางถนนทำไว้ที่ทางม้าลาย ให้ข้ามถนนไปทีละครึ่งถนน โดยพักรออยู่บนเกาะ มองขวา - ซ้ายปลอดภัยแล้วจึงข้ามไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้ามทางม้าลาย ถ.ราชดำเนินกลาง ไฟเขียวคนข้าม รถก็ข้ามด้วย?
เปิดเส้นทาง "ดูคาติ" คันที่ชน "หมอกระต่าย" ขายเปลี่ยนมือ 5 ครั้ง
เช็กเลย! "ขับรถ-คนเดิน" เปิดข้อกฎหมายฝ่าฝืนจราจรบนทางม้าลาย
ตำรวจ คฝ.ขี่บิ๊กไบค์ชน "แพทย์หญิง" ยอมรับขี่มาด้วยความเร็ว