ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.ห่วงคลัสเตอร์ "ร้านอาหารกึ่งผับ" แพร่โควิดเร็ว

สังคม
4 ม.ค. 65
14:04
992
Logo Thai PBS
สธ.ห่วงคลัสเตอร์ "ร้านอาหารกึ่งผับ" แพร่โควิดเร็ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.ห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับแพร่เชื้อ COVID-19 เร็ว หลังพบบางแห่งมีระบบระบายอากาศไม่ดี หละหลวมมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ชลบุรี อุดรฯ อุบลฯ ภูเก็ต เชียงใหม่

วันนี้ (4 ม.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า หลายจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวพบผู้เชื้อเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง จ.ชลบุรี ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของไทย ติดเชื้อรายใหม่ 499 คน แนวโน้มการติดเชื้อระยะหลังจะเกิดจากกิจกรรมรวมตัวกัน โดยพบการแพร่กระจายเชื้อสูงในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่มีระบบระบายอากาศไม่ดี เช่น คลัสเตอร์ใน จ.กาฬสินธุ์ และกระจายไปหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อในระยะต่อไป จะเกิดขึ้นในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ เนื่องจากหลายแห่งมีลักษณะเหมือนผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยพบว่าอากาศไม่ถ่ายเท มีโต๊ะเก้าอี้หนาแน่น มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย พูดคุยเสียงดัง ไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งความดำเนินคดีร้านที่พบการแพร่ระบาดใน จ.อุบลราชธานี แล้ว


ตรงไหนมีความเสี่ยงขอความกรุณาอย่าไป อย่าเห็นแก่ความสนุกไม่เท่าไหร่ พาให้โรคระบาดไปทั่ว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปี 2565 คาดหวังว่าตัว COVID-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยมีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1.เชื้อโรคจะฤทธิ์แรงลง ไม่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจแพร่กระจายได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2.มีภูมิต้านทาน คือ การฉีดวัคซีน และวัคซีนเข็มกระตุ้น 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น

 

ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 มีแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตลดลง แต่พบสัญญาณการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เช่น ชลบุรี อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดเมืองรอง โดยพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในร้านอาหารกึ่งผับบาร์

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่กลับจากต่างจังหวัด เฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน และ WFT ในสัปดาห์แรก พร้อมตรวจ ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน ส่วนโรงงาน หรือบริษัท ขอให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง