"วิจิตร" เป็นเสือโคร่งตัวผู้ อายุเกือบ 4 ปี เป็นลูก 1 ใน 3 ตัวของ "พ่อธนกร" และ "แม่เอื้อง” แห่งหุบเขานางรำ เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี มีพี่สาว 2 ตัวชื่อ "อภิญญา" และ "ผกา"
"วิจิตร" เป็นเสือที่ถูกเรียกรหัสการค้นพบว่า HKT271 หลังจากนักวิจัยเจอตัวปี 2562 โดยตั้งชื่อว่า "วิจิตร" ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อของทีมวิจัยเสือ Thailand Tiger Project DNP กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่พบครอบครัวเสือดังกล่าว และเฝ้าดูพฤติกรรมจนถึงปัจจุบัน
จากนั้นในปี 2563 นักวิจัยมีการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เพื่อติดตามพฤติกรรมการหากินและการอยู่อาศัย เนื่องจากครอบครัวของวิจิตร เป็นครอบครัวเสือกว่า 200 ตัวที่ทีมวิจัยพบ และศึกษาในป่าห้วยขาแข้งและป่าตะวันตกมาตั้งแต่ปี 2547
ก่อนหน้า 2 ปี แม่เอื้องยังต้องเป็นผู้ที่คอยดูแลลูกเสือทั้ง 3 ตัวให้เติบใหญ่ กระทั่งวิจิตร เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มในระยะหลัง วิจิตรจึงเริ่มออกเดินทางมาหากินตามลำพัง
ไขความลับปลอกคอ "เสือวิจิตร"เดินทางหาบ้าน
สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บอกว่าติดปลอกคอวิจิตร เพื่อติดตามพฤติกรรมเสือวัยรุ่น ว่ามีแนวทางการเดินทาง และยึดครองพื้นที่ตรงจุดไหน ถือว่าได้รับข้อมูลการเดินทางที่ค่อนข้างดี เพราะปกติเราเคยรับรู้ว่าเสือในป่าห้วยขาแข้ง จะออกไปเดินในป่าทุ่งใหญ่ฯ ป่าห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์ และป่าคลองลาน
ปลอกคอของวิจิตร ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นถึงพฤติกรรมของเสือโคร่ง บางครั้งมีการถ่ายภาพเสือโคร่งได้เป็นครอบครัว บางตัวที่ถ่ายรูปได้ในป่าห้วยขาแข้ง แต่บางตัวหายไปจากพื้นที่
การเดินทางไกลของเสือวิจิตร ยืนยันว่าหลังจากลูกเสือโต จะออกจากพื้นที่ ออกจากแม่และครอบครัว ถ้าโชคดีเขาอยู่รอด และสำรวจเจอเขาอีกครั้ง อาจอยู่ในพื้นที่อื่น แต่ที่ผ่านมามีข้อมูลเสือบางตัวหายไป ยังไม่ชัดว่าเสือหายไปไหน
สมโภชน์ บอกอีกว่า หลังเสือวิจิตรออกมาท่องโลกไกลถึง อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ และมีการยืนยันจากรอยตีนสุดท้ายในชายป่าแม่วงก์ ฝั่งกำแพงเพชร แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าอยู่ตรงจุดไหน
เป็นครั้งแรกที่เดินหลงเข้ามาในพื้นที่ชุมชน เพราะอยู่ในช่วงอายุที่จะออกเดินทางเพื่อหาพื้นที่อาศัยของตัวเอง เพราะที่อยู่เดิมมีเสือตัวผู้ตัวอื่นอาศัย และใช้พื้นที่อยู่ ที่ผ่านมาเสือวิจิตร ยังหากินชายป่าห้วยขาแข้ง แม้จะเกือบถึงชายขอบป่าบ้าง
สอดคล้องกับคำยืนยันของ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิจัยจากโครงการวิจัยติดตามพฤติกรรมของโครงการ Thailand Tiger Project DNP บอกว่า แม้ว่าที่ผ่านมารู้ข้อมูลแล้วว่าเสือโคร่งตัวผู้โตเต็มวัยอาศัยอยู่อย่างไร กินอะไร ใช้พื้นที่เท่าใด แต่ไม่เคยรู้ว่าเสือโคร่งวัยรุ่นพอโตแล้วไปอยู่ที่ไหนบ้าง ทำให้ต้องมาศึกษาข้อมูลในระยะนี้
เสือวิจิตร เป็นเสือตัวผู้ที่ประสบความสำเร็จในการติดปลอกคอ เพราะทำให้รู้ว่าเสือโคร่งเข้ามาในชุมชนเหมือนกัน ทำให้ย้อนคิดไปถึงเสือตัวอื่น ๆ แต่ไม่ได้ติดปลอกคอ เมื่อโตมาได้หายไป คาดว่าได้ออกมาเดินเล่นนอกป่าเช่นเดียวกัน
โดยธรรมชาติถ้าเสือโคร่งออกมานอกพื้นที่ป่าแล้วอยู่ไม่ได้ ก็จะพยายามหาที่อยู่ใหม่เรื่อย ๆ จนพบที่อาศัยอยู่ได้อย่างเหมาะสม ขณะนี้แนวโน้มประชากรเสือเพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงการทำงานดูแลพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าคนในชุมชนและชาวไทย เข้าใจความสำคัญของเสือมากขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม ภารกิจต้อน "เสือวิจิตร" กลับป่า นักวิจัยแนะชาวบ้านใช้ชีวิตปกติ
มุมมองนักวิจัย "เสือไม่โหดร้าย"
ดร.อัจฉรา ยังเล่าความประทับใจชาวบ้านที่รู้จัก และสอบถามข้อมูล "เสือวิจิตร" ขณะตามหาสัญญาณเสือในพื้นที่ชุมชนรอบป่าในพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง ว่า เจอชาวบ้านจอดรถจักรยานยนต์ ถามกลับมาว่า "เจอวิจิตรหรือยังครับ" ทำให้ก็แปลกใจแล้วตอบกลับไปว่า "ยังไม่เจอค่ะ" พร้อมถามกับแบบทีเล่นทีจริงว่า
เอาไปซ่อนไว้ที่ไหนบอกมาซะดี ๆ เขาก็พูดว่า ถ้าผมบอกว่าอยู่ในขวดเหล้าก็เก่าไปแล้ว แล้วขับรถออกไป เป็นอะไรที่อเมซิ่งมาก เราทำงานอยู่ กำลังตามรับสัญญาณ
นักวิจัยเสือ บอกอีกว่า แนวโน้มคนไทยรับรู้เรื่องความสำคัญของเสือโคร่ง การอนุรักษ์เสือโคร่งมากขึ้น วิจิตร สร้างปรากฏการณ์ให้คนเข้ามาดูเพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP หลักล้านเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้นักวิจัย ยังเล่าถึงความประทับในการทำงานวิจัยเสือว่า จริง ๆ แล้วเสือน่ารักทุกตัว ที่ทำงานกับเสือมานาน ไม่เคยเจอเสือแนวโหดร้าย เพราะเขาเป็นสัตว์ที่มุ้งมิ้ง ไม่ได้โหด ถึงแม้ว่าจะเป็นเสือตัวผู้ดูตัวใหญ่โต ถึงเวลาก็เหมือนแมวตัวใหญ่
ไม่รู้จะพูดยังไง พูดไปก็จะคิดว่าเราอยู่กับเสือ เราเข้าข้างเสือหรือเปล่า แต่จริง ๆ ถ้าคนมีโอกาสได้สัมผัส จะพบว่าเสือเป็นสัตว์ที่น่ารัก อ่อนโยน ขี้เล่น ไม่ได้โหด
เสือทุกตัวมีเรื่องราวและไม่ได้โหดร้ายอย่างภาพจำของใครหลายคน ดร.อัจฉรา ยกตัวอย่างลักษณะเสือตัวเด่น ๆ ที่ได้ทำงานวิจัย พบว่า "เสือสิทธิตรี" เป็นอีกหนึ่งตัวที่น่าชื่นชม ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกรอดหมดทุกตัว ส่วน "เสือแม่รุ้ง" ค่อนข้างอาภัพมีลูกกี่ตัวก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แฟ้มประวัติของ "เสือวิจิตร" ไม่ธรรมดา
Thailand Tiger Project DNP ระบุว่า "วิจิตร” เสือหนุ่มแห่งป่าห้วยขาแข้ง มีความน่าสนใจ เพราะครอบครัวของแม่เอื้องและลูกน้อย 3 ตัว เคยตกเป็นข่าวมาแล้ว หลังจากแม่เอื้องพาลูกน้อย ซึ่งตอนนั้นวิจิตร และพี่ ๆ อีก 2 ตัวที่อายุราว 6 เดือน กำลังล่าวัวแดงอยู่จากปากคำของชาวบ้าน
แต่เมื่อนักวิจัยมาติดกล้องติดตามจุดที่พบซากวัวแดง จึงยืนยันว่าเป็นแม่เอื้องได้ลากซากวัวแดงไปให้ลูกของมันอีก 3 ตัว ได้กินภายในป่า ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ห่วงโซ่ห่วงอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ป่า
ต่อมาวิจิตรและพี่ ๆ เติบโตในป่าใหญ่เรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเมื่ออายุเกือบ 2 ปี ฮอร์โมนในกายพลุ่งพล่านนึกอยากผจญภัยจึงชวนกันไปเที่ยวเล่นที่ชุมชน ที่อยู่ติดกับบ้านของแม่ ก็ได้สนุกกันพักหนึ่ง ทั้งเสือและเจ้าหน้าที่ติดตาม แต่อะไรก็ไม่เด็ดเท่า ไม้เรียวในมือแม่เอื้องสั่นหนักมาก ต้องลงแรงออกไปตาม วิจิตร กับอภิญญาด้วยตนเอง เรื่องจึงสงบลง
ม.ค.2654 "วิจิตร" ที่ถูกติดปลอกคอไว้ พบมีการเคลื่อนที่จากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมของเสือ “วิจิตร” บนแผนที่ google ทำให้เห็นว่า มันออกไปทำกิจกรรมอะไร?
และเมื่อตรวจสอบรอบคอบ ท้ายสุดปริศนาก็คลี่คลายเมื่อได้เห็นว่า มีซากวัวแดงขนาดกลาง ๆ ซุกซ่อนอยู่ในพงหญ้าแห้ง ที่มีร่องรอยการกินไปเพียงนิดเดียว นั่นหมายความว่า ยังไม่อิ่ม และคงต้องย้อนกลับออกมากินจนกว่า อาหารนี้จะหมด
ต่อมาช่วงวันที่ 30 พ.ย.นี้ เสือวิจิตร ตกเป็นข่าวครึกโครมครั้งใหญ่ หลังจากเริ่มเปลี่ยนไป มันเริ่มออกเดินจากห้วยขาแข้ง มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ นักวิจัยเฝ้ามองพิกัดจากระบบดาวเทียม พบว่าเสือวิจิตร มันไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่มีการลังเล จนข้ามเขตไปอยู่ฝั่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จนทำให้ต้องออกทีมค้นหาและบล็อกให้กลับคืนสู่ป่าได้เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.64)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยืนยัน "เสือวิจิตร" เดินกลับเข้าป่าแม่วงก์แล้ว หลังออกมาเที่ยว 7 วัน
พบรอยตีน "เสือวิจิตร" เสือหนุ่มหนีเที่ยว ใกล้ขอบป่าแม่วงก์
วันนี้ยังไม่พบสัญญาณ "เสือวิจิตร" จนท.ควานทั่วรัศมี 10 กม.
ชาวบ้านกังวล “เสือวิจิตร” ไม่กล้าออกกรีดยางสูญรายได้วันละ 2,000 บาท