เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวยืนยันเรื่องการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" คนแรกของประเทศ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าวเดินทางมาจากแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา และตรวจพบเชื้อในวันที่ 29 พ.ย. โดยพบว่ามีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย ซึ่งผู้ติดเชื้อยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ด้านแอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ย้ำเตือนให้ชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบจำนวนแล้ว ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาด พบว่าแม้วัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับสายพันธุ์เดลตาโดยเฉพาะ แต่ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนมีมากเพียงพอสำหรับการป้องกัน
ส่วนที่ "เกาหลีใต้" มีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศแล้ว 5 คน โดยเป็นคู่สามีภรรยาที่เดินทางกลับจากไนจีเรีย ซึ่งทั้งคู่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส จากนั้นตรวจพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คนและเพื่อน 1 คนติดเชื้อด้วย
ขณะที่สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KCDA) ประกาศกฎให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ ทั้งชาวเกาหลีและชาวต่างชาติ ต้องกักตัว 10 วันเมื่อเดินทางมาถึง ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม เบื้องต้นจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 2 สัปดาห์
"อังกฤษ" คาดตัวเลขคนติดโอมิครอนเพิ่มสูง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ระบุว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 32 คน ในจำนวนนี้อยู่ในอังกฤษ 22 คน สกอตแลนด์ 10 คน และคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลเร่งทำงานอย่างหนักในการตรวจหาเชื้อและถอดรหัสพันธุกรรมของตัวอย่างเชื้อ
พร้อมกล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องยกระดับมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยประชาชนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยในระบบขนส่งสาธารณะ ในร้านค้า และขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 2 เดือน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ
ส่วนที่ประเทศกานา มีการประกาศว่า นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบเชื้อโอมิครอนเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยไม่ได้ระบุตัวเลขของผู้ติดเชื้อ แต่ระบุเพียงว่าผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากไนจีเรียและแอฟริกาใต้
WHO ชี้สั่งห้ามเดินทางแบบเหวี่ยงแหไม่ช่วยกันโอมิครอน
ด้านเทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนอย่างน้อยใน 23 ประเทศ 5 ภูมิภาคทั่วโลก และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งองค์การอนามัยโลกจับตาดูพัฒนาการการระบาดอย่างจริงจังและหวังให้ทุกประเทศปฏิบัติตาม แต่หากพบการระบาดเพิ่มขึ้นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก
พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกใช้มาตรการลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างเหมาะสม ภายใต้กฎระเบียบด้านสาธารณสุขนานาชาติ เช่น การคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ การใช้แอปพลิเคชันสำหรับการกักบริเวณนักเดินทางต่างชาติ เพราะการสั่งห้ามการเดินทางแบบเหวี่ยงแห ไม่ช่วยป้องกันการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และยังสร้างความลำบากให้ประชาชนและวิถีการดำเนินชีวิต
สหภาพยุโรปเสนอประเทศสมาชิก "บังคับฉีดวัคซีน"
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า วัคซีนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ดังนั้นหากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะหารือเรื่องการบังคับให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศในสหภาพยุโรปที่บังคับให้ฉีดวัคซีน เช่น ออสเตรีย และกรีซที่บังคับให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปต้องฉีดวัคซีน มิฉะนั้นจะถูกปรับเงินเดือนละประมาณ 3,800 บาท
ขณะที่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่พบในหลายประเทศ ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวและเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งที่ "โปรตุเกส" มีประชาชนจำนวนมากเข้ารับการฉีดวัคซีนในกรุงลิสบอน โดยทางการเรียกร้องให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงคนที่ได้รับวัคซีนครบจำนวนแล้ว มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งในโปรตุเกสพบการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในสโมสรฟุตบอลที่มีผู้ติดเชื้อ 13 คน
ส่วนรัฐบาลเลบานอน ประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยห้ามคนกลุ่มนี้ออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 19.00 - 06.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.2564 - 9 ม.ค.2565 นอกจากนี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ บุคลากรทางการแพทย์ ครู รวมถึงผู้ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว จะต้องฉีดวัคซีนครบจำนวนภายในวันที่ 10 ม.ค.2565 หรือต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกสัปดาห์ โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง
ที่มา : AFP, AP, CNA
อ่านข่าวอื่นๆ
ปริศนาโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" มาจากไหน?
ศบค.เร่งตามตัว 252 คนมาจาก 8 ประเทศเสี่ยงตรวจ RT-PCR
WHO เตือนโอมิครอนทำโลกเสี่ยงสูง-ร้องช่วยประเทศยากจนรับวัคซีน