ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ว่า การติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ภายหลังผ่อนคลายมาตรการย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะมีการกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์
แต่สถานการณ์ขณะนี้แตกต่างจากเมื่อ 4 - 5 เดือนที่แล้ว เพราะฉีดวัคซีนเพิ่มเป็นวงกว้างและจำนวนมากขึ้น เห็นได้จากผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง อีกทั้งการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทำได้สะดวกและง่ายขึ้นแต่สถานการณ์ก็อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งหากเกิดการระบาดใหม่ แต่อัตราคนป่วยหนักไม่มากนัก ก็ถือว่าระบบสาธารณสุขยังรับมือได้
ศ.นพ.มานพ ระบุว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมากจะช่วยป้องกันระบบสาธารณสุขได้ เห็นได้จากต่างประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาการหนัก ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ทันกับสถานการณ์ เพราะหากมีคนร้อยละ 30 ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
ข้อมูลทางระบาดวิทยา พบว่า การระบาดขณะนี้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและบางส่วนเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็นลักษณะคลัสเตอร์ที่เคยพบก่อนหน้านี้ เช่น ตลาด งานบุญประเพณี แคมป์คนงานในบางจังหวัด
สำหรับกลยุทธ์การรองรับเปิดประเทศของกระทรวงสาธารณสุขมี 4 กลยุทธ์ 10 มาตรการ ตั้งแต่การป้องกันและควบคุมโรค การเตรียมความพร้อมการพัฒนาระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศและการบริหารจัดการแบบบูรณาการ อาทิ ต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง การดำเนินการป้องกันโรคในรูปแบบ Bubble and Seal สำหรับแคมป์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ยกระดับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมรูปแบบการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์