ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จุฬาฯ แย้มข่าวดีวัคซีน ChulaCov 19 ชนิด mRNA คาดได้ใช้จริงปี 65

สังคม
19 พ.ย. 64
06:22
1,812
Logo Thai PBS
จุฬาฯ แย้มข่าวดีวัคซีน ChulaCov 19 ชนิด mRNA คาดได้ใช้จริงปี 65
จุฬาฯ เผยความคืบหน้าวัคซีน ChulaCov 19 ชนิด mRNA เตรียมทดสอบในมนุษย์เฟส 2 คาดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ผลิตระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 65 ส่วนวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เริ่มทดสอบในมนุษย์แล้ว

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2564) ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และร่วมเสวนากับวิทยากรในการเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ประสิทธิภาพสูง โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 กล่าวว่า วัคซีน ChulaCov 19 ชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 คน และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 คน ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์


ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มอายุ 55-75 ปีอีกด้วย รวมทั้งอยู่ในระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป และเตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน

คาดว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้ผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 และยังเตรียมพร้อมพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย

จุฬาฯ-ใบยา เดินหน้าทดสอบวัคซีนรุ่น 2 ในสัตว์ทดลอง

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ (วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา) เผยถึงความคืบหน้าของวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา จากใบพืชตระกูลยาสูบสปีชีส์ “N. benthamiana” ซึ่งใช้ระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ


ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน ส่วนวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง