วันนี้ (10 พ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาการจำหน่ายเนื้อหมูหน้าเขียง ที่ตลาดแม่กิมเฮง ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา เงียบเหงามีลูกค้ามาซื้อเนื้อหมูบางตา จำนวนลูกค้าที่ลดลง เจ้าของเขียงหมู ระบุว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับราคาเนื้อหมูจากเดิมกิโลกรัมละ 150 บาท เป็นกิโลกรัมละ 160 - 180 บาท
นางอุษาวดี อโณทัยไพบูลย์ เจ้าของเขียงหมู กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาหมูปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาค่าขนส่งหมูปรับเพิ่มไปด้วย ประกอบกับหลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทำให้หมูเป็นโรคระบาด ราคาจึงปรับสูงขึ้นตามกลไก
เช่นเดียวกับตลาดสดเทศบาล 5 เทศบาลนครอุบลราชธานี บรรยากาศที่ร้านขายเนื้อหมูหลายร้านมีลูกค้าลดลงจากราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 - 185 บาท ซึ่งพ่อค้าแม่ค้า บอกว่า ราคาเนื้อหมูปรับขึ้นต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ทำให้ลูกค้าบางส่วนหันไปซื้อเนื้อสัตว์ชนิดอื่นบริโภคแทน

สำหรับราคาหมูที่ปรับแพงขึ้นส่วนหนึ่งมีรายงานว่าเป็นสาเหตุมาจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการประกาศปรับราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตเป็น 84 บาทต่อกิโลกรัม เเต่กรมการค้าภายในบอกว่า จากการติดตามพบว่ายังอยู่ที่ราคาไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม
วันที่ 8 พ.ย.2564 ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่งอยู่ที่ 135 - 140 บาทต่อกิโลกรัม ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงตัดแต่งอยู่ที่ 145 -150 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาเดียวกับปีก่อน สำหรับราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงชำแหละในห้างค้าปลีกค้าส่ง พบว่าราคายังอยู่ที่ 119 - 122 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับปริมาณสุกรในปีนี้ กรมปศุสัตว์แจ้งว่า ปริมาณผลผลิตลดลงจากปีก่อน โดยคาดว่าจะมีปริมาณสุกรที่ 15.86 ล้านตัว ลดลงจากปีก่อน 30% เเต่ประเมินว่า ปริมาณเนื้อสุกรชำแหละในสต็อกยังมีอยู่พอสมควร จึงเชื่อว่าปริมาณเนื้อสุกรชำแหละจะมีเพียงพอ
ขณะที่กรมการค้าภายในได้ติดตามสถานการณ์ทั้งด้านปริมาณและราคาเนื้อสุกรร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากพบว่าตลาดใดมีปริมาณเข้าสู่ในตลาดไม่เพียงพอจะได้ประสานสมาคมผู้เลี้ยงสุกรนำเนื้อสุกรชำแหละเข้าไปเสริมในตลาดหรือจะจัดจำหน่ายหมูธงฟ้า ช่วยบรรเทาผลกระทบอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ราคาเนื้อสุกร และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาส แจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569