วันนี้ (28 ต.ค.2564) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพฝน ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำ แม่น้ำต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน มีทิศทางที่ลดลง สทนช. จึงนัดประชุมหารือกับ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทบทวนแผนการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนทับเสลา เขื่อนแควน้อยฯ ให้น้อยที่สุด ไม่ให้ลงมาซ้ำเติมในพื้นที่น้ำท่วมขังปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้มากที่สุดด้วย โดยไม่ส่งผลกระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่ด้วย เพื่อให้มีปริมาณน้ำระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท น้อยที่สุด และภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างคลี่คลายโดยเร็ว ซึ่ง สทนช.จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (29 ต.ค.)
ปัจจุบันการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,464 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ร่วมกับ กฟผ. จัดทำแผนปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ คลี่คลายโดยเร็ว
หากปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงมาอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.ไชโย อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี รวมถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น
และหากลดระดับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 1,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณ อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เริ่มคลี่คลายลง และลดเหลือ 1,000 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งเริ่มคลี่คลาย ตั้งแต่บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
นอกจากการพิจารณาปรับแผนบริหารจัดการน้ำตอนบน เพื่อให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาน้อยที่สุดแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งดำเนินการสูบน้ำ และวางแผนการเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทุ่งรับน้ำ เพื่อให้น้ำไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำสายหลักก่อนระบายออกสู่ทะเล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของ และทยอยกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้เร็วที่สุด