ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมวิทย์ฯ เผยเดลตาพลัส ชนิด AY.4.2 ยังไม่พบในไทย

สังคม
28 ต.ค. 64
14:25
1,006
Logo Thai PBS
กรมวิทย์ฯ เผยเดลตาพลัส ชนิด AY.4.2 ยังไม่พบในไทย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ระบุสายพันธุ์เดลตาพลัส ชนิด AY.4.2 ยังไม่พบในไทย ที่พบอยู่ในขณะนี้คือ อัลฟาพลัส ชนิด E484K และ เดลตาพลัส ชนิด AY.1

วันนี้ (28 ต.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังทั้งประเทศ ระหว่าง 16-22 ต.ค.2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,085 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,069 คน (98.6 %) สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 9 คน (0.8 %) และสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 7 คน (0.6 %)

 

โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจจำนวน 16 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 15 คน (93.8%) สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 1 คน (6.2%) ส่วนสายพันธุ์เบตา ไม่พบผู้ติดเชื้อ

ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจจำนวน 1,069 คน เป็นสายพันธุ์เดลตา 1,054 คน (98.6%) สายพันธุ์เบตา 9 คน (0.8%) และสายพันธุ์อัลฟา 6 คน (0.5%)

4 จว.ชายแดนใต้ พบสายพันธุ์เดลตา มากที่สุด

สำหรับในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการแพร่ระบาดค่อนข้างมากนั้น จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ จำนวน 389 คน พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา 377 คน (96.9%) สายพันธุ์เบตา 9 คน (2.3%) และสายพันธุ์อัลฟา 3 คน (0.7%)

เพราะฉะนั้นเป็นเครื่องยืนยันว่า การระบาดในทั่วทุกภูมิภาคประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่คือ สายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก ส่วนอัลฟาลดลงเรื่อย ๆ

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า มีประเด็นที่พูดถึงสายพันธุ์อัลฟาพลัสกับเดลตาพลัส ขอให้ข้อมูลว่า คำว่า "พลัส" คือมีพันธุกรรมของสายพันธุ์เดิม แล้วมีการเพิ่มการกลายพันธุ์บางจุดขึ้นมา

ในไทยพบ อัลฟาพลัส ชนิด E484K

จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ขณะนี้เราตรวจพบอัลฟาพลัส ชนิด E484K คือ มีการกลายพันธุ์ตรงตำแหน่ง E484K ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หลบภูมิได้ โดยพบผู้ติดเชื้อจำนวน 18 คน ในแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา 12 คน และคนไทย 4 คน ที่ทำงานในล้งลำไยในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด และพบในผู้ต้องขัง จ.เชียงใหม่ 2 คน ขณะนี้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่และตรวจติดตามเพิ่มเติมแล้ว

ซึ่งสายพันธุ์อัลฟาพลัสนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ พบในอังกฤษเป็นประเทศแรก ปัจจุบันพบมีการระบาดในกัมพูชา หากพบสายพันธุ์นี้มากในไทย ก็อาจจะเป็นปัญหา

แต่จากข้อมูลการระบาดในกัมพูชาพบว่า สายพันธุ์อัลฟาพลัส E484K มีจำนวนลดลงแล้ว แสดงให้เห็นถึงว่ามีอำนาจในการแพร่กระจายไม่สูง อย่างไรก็ตาม เราจะดำเนินการตรวจเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

เฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยเดลตา

ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยเดลตา หรือ เดลตาพลัส ขณะนี้ในประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์ย่อย อยู่ 18 ชนิด และชนิดที่พบมากที่สุดคือ ชนิด AY.30 จำนวน 1,341 คน จากจำนวนตรวจทั้งหมด 1,478 ตัวอย่าง

ยังไม่มีเดลตาพลัส ชนิด AY.4.2 ในไทย

สำหรับเดลตาพลัส ชนิด AY.4.2 ที่กำลังระบาดในยุโรปและหลายประเทศ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีข้อมูลว่ามีอำนาจในการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า 10-15% นั้น ณ วันนี้ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย

แต่ที่มีข้อมูลคือ พบสายพันธุ์เดลตาพลัส ชนิด AY.1 จำนวน 1 คน จาก จ.กำแพงเพชร ซึ่งตรวจพบโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และได้ประสานแจ้งมาที่กระทรวงสาธารณสุข

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่วนความกังวลว่าสายพันธุ์นี้จะรุนแรงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีฤทธิ์รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาปกติแต่อย่างใด

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่าย มีการตรวจพันธุกรรมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 450 ตัวอย่าง เมื่อตรวจเสร็จเราได้ลงข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในฐานข้อมูลสากล GISAD ขณะนี้ลงข้อมูลไปแล้วจำนวน 5,302 ตัวอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ทั่วโลกได้ใช้เป็นข้อมูลเฝ้าระวังต่อไป

 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

"ไฟเซอร์" 1.5 ล้านโดสถึงไทย กลุ่ม 12-17 ปีฉีดวัคซีน 2 ล้านคน

แอมเนสตี้เรียกร้องผู้นำกลุ่ม G20 จัดสรรวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นธรรมทั่วโลก

“นายกฯ” สั่งปราบลอบขาย “ฟาวิพิราเวียร์” ขอช่วยสอดส่องพบอีก แจ้ง 1135

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง