วานนี้ (21 ต.ค.2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 36) ดังนี้ ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
โดยที่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรี จึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศบค.ดังต่อไปนี้
1. การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง(Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์
2. การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
เลิกเคอร์ฟิวมีผล 31 ต.ค.-ห้ามจัดกิจกรรมคนเกิน 500 คน
3. การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.2564
4.การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คนในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
ยังปิดสถานบันเทิง-ผับบาร์ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว
5.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้
โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด
6.การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการกำหนดมาตร การเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าฯกทม. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศปก.ศบค.เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้น หรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในห้วงเวลาต่าง ๆ
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ. 2558 โดยสั่งปีด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19
7.การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล
8.มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกำหนดนี้ เช่น การกำหนดประเทศหรือพื้นที่
ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ การมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อ COVID-19 การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนด และหลักฐานการชำระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคำสั่งศบค. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ลงนามในคำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 17/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) มีรายละเอียดดังนี้