วันนี้ (27 ก.ย.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในแต่ละระยะ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายจังหวัดสามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้มากขึ้นกว่าระดับสีพื้นที่สถานการณ์ของตัวเอง จึงขอให้กำหนดเป็นพื้นที่ "สีฟ้า" โดยเจาะจงเฉพาะบางอำเภอ
ก่อนหน้านี้มีการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในระยะนำร่อง 4 จังหวัด คือ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และ จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)
ล่าสุดในช่วงวันที่ 1-30 พ.ย.นี้ จะมีพื้นที่สีฟ้าเพิ่มอีก 10 จังหวัด นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง (เกาะพยาม) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง)
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดดังกล่าวนั้น ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด
ส่วนแผนการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 2 ในช่วงเดือน 1-31 ธ.ค.นี้ จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
และแผนการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
พื้นที่ "สีฟ้า" ทำอะไรได้บ้าง?
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ "สีฟ้า" สามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้เหมือนพื้นที่ "สีเขียว" ไม่จำกัดการเดินทาง เปิดกิจการ-กิจกรรมได้ตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยให้อยู่ในการควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ขอความร่วมมือประชาชนแต่ละจังหวัด ขอให้ช่วยกัน นี่คือการวางแผนไว้ถึงต้นปีหน้า ถ้าทำได้ ไม่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่ม แผนนี้จะถูกนำไปปฏิบัติและขยายผลสู่การเป็นนิวนอร์มอล หรือชีวิตวิถีใหม่ และโรคระบาดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น