ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อยู่ร่วมโควิดอย่างไร เมื่อกดตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ไม่ได้

สังคม
10 ก.ย. 64
14:46
435
Logo Thai PBS
อยู่ร่วมโควิดอย่างไร เมื่อกดตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ไม่ได้
วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โควิด หลัง ศบค.ทยอยผ่านคลายมาตรการและขอประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด "นพ.บวรศม" แนะไทยยังไม่ควรละทิ้งแนวคิดการกำจัดโรคก่อนเปิดประเทศ

ช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาแล้วหลายระลอก การระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นที่สนามมวย-สถานบันเทิง จากนั้นระลอก 2 เป็นการระบาดในกลุ่มแรงงานประมง จ.สมุทรสาคร ระลอก 3 สถานบันเทิงย่านทองหล่อ และระลอก 4 ที่เริ่มพบสายพันธุ์เดลตาระบาดตามพื้นที่ต่างๆ เช่น แคมป์แรงงานข้ามชาติ กทม.

ขณะที่การควบคุมโรคเน้นการจำกัดพื้นที่ระบาด ล็อกดาวน์ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังแตะหลักหมื่นคน ผู้เสียชีวิตยังเพิ่มสูง และการฉีดวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้กลายเป็นศูนย์ได้ แนวคิด "อยู่ร่วมกับโรคโควิด" จึงกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้

อยู่ร่วมกับโรคโควิด "Living with COVID"

รศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันสาขาระบาดวิทยา และนักวิจัยระบบสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก "Borwornsom Leerapan" มีสาระสำคัญว่า ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับโรคโควิด หรือ "Living with COVID มีเป้าหมายลดอัตราป่วยตายของผู้ติดเชื้อ แม้จะไม่สามารถควบคุมการแพร่เชื้อในชุมชนให้อยู่ในระดับต่ำได้ แต่มีเครื่องมือสำคัญคือการใช้วัคซีนต้านโควิดที่มีประสิทธิผลให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราป่วยตาย โดยไม่สนใจจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease)

การอยู่ร่วมกับโรคโควิด อาจจะใช้ต้นทุนต่ำในระยะสั้น แต่อาจต้องจ่ายต้นทุนที่สูงในระยะยาว จากการควบคุมโรคและการรักษาต่อเนื่อง ที่เป็นผลมาจากความชุกของโรค

เราอาจต้องลงทุนสร้างทรัพยากรทางการแพทย์เพิ่มเติมอีกมาก เช่น ต้องเร่งสร้าง ICU ไว้ใช้เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโควิดไปแย่งใช้ทรัพยากรของผู้ป่วยกลุ่มอื่นในระบบบริการสุขภาพ เหมือนอย่างในระยะที่ผ่านมา

นอกจากนี้อาจมีภาระโรคจากผู้ป่วย Long COVID ขณะที่ความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็อาจทำให้มีโอกาสกลับมาบังคับใช้มาตรการเข้มข้นซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างความอ่อนล้าให้กับประชาชน และอาจทำให้ทิ้งใครหลายคนไว้ข้างหลัง เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ในระยะสั้น

ยกตัวอย่าง "สิงคโปร์" เป็นกรณีศึกษาในการดำเนินนโยบาย “อยู่กับโรคโควิด” ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเปิดประเทศด้วยมาตรการกำจัดโรค และการจำกัดพื้นที่ระบาด จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ภายใต้ขีดความสามารถในการควบคุมโรค และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องตั้งการ์ดสูงหลังคลายล็อกดาวน์

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถลดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน ลงมาอยู่ในระดับที่ระบบสอบสวนโรคสามารถทำงานได้ตามปกติ จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงสูง และสัดส่วนของประชาชนที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบ 2 เข็มแล้วยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% จึงยังมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการระบาดซ้ำ และอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคแบบเข้มข้นซ้ำอีก

ในเวลานี้ เราจึงยังไม่ควรยอมแพ้จนละทิ้งแนวคิด 'การกำจัดโรค' และ 'การจำกัดพื้นที่ระบาด' โดยเฉพาะถ้าหากพิจารณาแล้วว่าเรายังมีโอกาสลงทุนระยะสั้น เพื่อทำงานควบคุมโรคให้ได้ประสิทธิผลมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อ้างอิง : รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ ข้อควรระวังในการดำเนินการนโยบาย “เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับโรคโควิด” https://www.facebook.com/borwornsom.leerapan/posts/10158714332969072

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอธีระ" ห่วงคลายล็อกโควิดซ้ำรอยปีใหม่-ขันน็อตปรับรูปแบบชีวิต

ไทม์ไลน์ "ฉากทัศน์โควิดไทย" 63-64 คลายล็อกสวนทางคาดการณ์ระบาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง