ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะลึกธุรกิจฟื้นตัว หลังอ่วมจากโควิด-19

เศรษฐกิจ
10 ก.ย. 64
13:27
1,480
Logo Thai PBS
เจาะลึกธุรกิจฟื้นตัว หลังอ่วมจากโควิด-19
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี เผยผลการศึกษาการฟื้นตัวของธุรกิจจากโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนใน ตลท.กว่า 500 บริษัท ขณะที่ธนาคารกรุงศรีฯ ระบุภาคบริการได้รับผลกระทบสูงสุด ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าควบคุมโควิด-19 ได้ไม่เร็วไปกว่าไตรมาส 4 ของปีนี้

วันนี้ (10 ก.ย.2564) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีการปรับตัวแตกต่างกันไปตามลักษณะธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ สะท้อนลักษณะการฟื้นตัวของรายได้

จากการศึกษาการปรับตัวและการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การล็อกดาวน์ ครั้งแรกในไตรมาส 2 ปี 2563 จนถึงไตรมาส 2 ปี 2564 ด้วยการคำนวณเป็นดัชนีรายได้ของแต่ละธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลรายได้จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กว่า 500 บริษัท เทียบรายได้ปี 2562 ก่อนเกิดการระบาด และประเมินในช่วงการระบาดที่ผ่านมาว่าธุรกิจมีความสามารถในการปรับตัวอย่างไร

ทีทีบี เผยผลการศึกษาการฟื้นตัวของธุรกิจ

ผลการศึกษาแบ่งการฟื้นตัวของธุรกิจพบว่า 1. ธุรกิจฟื้นแล้ว ซึ่งธุรกิจฟื้นตัว เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากตลาดส่งออกและตลาดในประเทศดีขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงาน เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม

 

2.ธุรกิจกำลังฟื้น โดยธุรกิจกำลังฟื้นตามกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับมา ได้แก่ ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง เกษตรแปรรูป ไอทีและเทเลคอม ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค เฟอร์นิเจอร์

3.ธุรกิจยังไม่ฟื้น เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นและได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ) ท่องเที่ยว (โรงแรมและร้านอาหาร) และการบริการส่วนบุคคล

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อรอคอยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับพลิกฟื้นอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่จะสามารถประคับประคองธุรกิจ ได้แก่ การทำตลาดในช่องทางออนไลน์มากขึ้น การบริหารจัดการธุรกิจโดยคำนึงถึงความสะดวกของการซื้อสินค้าของผู้บริโภค และสินค้าต้องมีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ หากเป็นโรงงานและธุรกิจบริการควรพิจารณาทำ Bubble & Seal นอกจากนี้ ควรพิจารณารับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การพักชำระหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

กรุงศรีฯ ชี้รายได้ภาคบริการลด 30-50%

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เพราะมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จากภาครัฐ เริ่มจากการปิดการท่องเที่ยว ตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทชั่วคราว ทำให้ต้องปิดโรงงาน และส่งผลกระทบต่อซัปพลายเชนการผลิต และกิจกรรมการค้าต่างๆ ผลกระทบเป็นลูกโซ่ได้ถูกส่งต่อไปยังภาคการบริโภคของประชาชน

 

จากข้อมูลพบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด มีรายได้ลดลงค่อนข้างมากถึง 30-50% คือภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมสันทนาการที่ต้องแบกรับผลกระทบมายาวนานกว่า 1 ปี และยังมีอุตสาหกรรมบางส่วนที่มีความแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบน้อย เช่น อาหาร และโทรคมนาคม

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในหลากหลายธุรกิจเร่งปรับตัวให้สอดรับกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรักษาและประคองสถานะของธุรกิจให้ยังคงไปจนผ่านพ้นช่วงของการระบาด

สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ต่างปรับตัวเป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่หันมาขายสินค้าแบบออนไลน์ มีการบริการในรูปแบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้มากขึ้น

แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะมีผู้ประกอบการในหลายภาคธุรกิจที่ยังไม่พร้อม หรือมีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรในช่วงนี้ได้มากนัก

กสิกรฯ คาดคุมโควิดไม่เร็วกว่าไตรมาส 4

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน ก.ค.2564 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมากกว่าที่คาด คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่าวันละ 1,000 คน ไม่เร็วไปกว่าไตรมาส 4 ของปี 2564

จากมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่เดือน ก.ค.2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการออกมาตรการ เพื่อช่วยบรรเทากับกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่คงไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด

ส่วนการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในบางธุรกิจ แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสยังไม่สูงมาก จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่กลับมาปกติ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ประมาณ 150,000 คน

ขณะที่ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากนี้ อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และอียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง