ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.ปิดศูนย์ฯ "นิมิบุตร" 30 ก.ย.นี้ หลังผู้ป่วยลด

สังคม
6 ก.ย. 64
15:13
1,372
Logo Thai PBS
สธ.ปิดศูนย์ฯ "นิมิบุตร" 30 ก.ย.นี้ หลังผู้ป่วยลด
สธ. เตรียมทยอยปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. หลังสถานการณ์ผู้ป่วยลดลง ย้ายศูนย์แรกรับนิมิบุตรไป รพ.เลิดสิน ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-แดง พร้อมกับเตรียมจัดหายา "โมลนูพิราเวียร์" ใช้รักษาโควิด

วันนี้ (6 ก.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หลังพื้นที่ กทม. และปริมณฑล สถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น จึงเตรียมปิดการให้บริการในศูนย์แรกรับนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ และจะไปเปิดศูนย์แรกรับที่โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อเป็นศูนย์แรกรับและส่งต่อแทน โดยจะรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม ก็เตรียมพิจารณาประเมินผลการให้บริการรับผู้ป่วยในเดือน ต.ค.นี้ เนื่องจากขณะนี้จำนวนการครองเตียงเหลือเพียง 824 เตียง มีเตียงว่าง 1,376 เตียง จากจำนวนเตียงทั้งหมด 2,200 เตียง 

ส่วนที่ฮอสพิเทล สังกัดโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ ก็เตรียมปิดให้บริการ 4 แห่ง คงเหลือไว้ 2 แห่ง  เพื่อดูแลผู้ป่วย รวมทั้งสถานที่ดูแลผู้ป่วยในจุดอื่น ๆ คาดว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบอื่น เช่น สังกัด กทม. ก็อาจมีการพิจารณาปิดเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย และสถานการณ์ ด้วย โดยยังคงเหลือระบบการรักษาแบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วยสีเขียว ส่วนสีเหลืองและสีแดง ก็มีสถานพยาบาลดูแล

ส่วนความคืบหน้าการจัดหายารักษาโควิด-19 จากการศึกษาวิจัยการใช้ไอเวอร์เมกติน (ยาถ่ายพยาธิในสัตว์) ในต่างประเทศ พบว่าไม่ได้ผลและไม่มีคำแนะนำให้ใช้ ขณะที่การศึกษาวิจัยยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลศิริราช ก็ยังไม่สิ้นสุด

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองระยะ 3 และรอขึ้นทะเบียนของ FDA สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะขึ้นทะเบียนเดือน ต.ค.นี้ และหากสำเร็จ ก็จะขึ้นทะเบียนในไทยได้ประมาณเดือน พ.ย. โดยยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตระกูลเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในชั้นเซลล์ เหมาะกับการใช้รักษาในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง หากการทดลองยานี้สำเร็จก็จะนำมาทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์

สำหรับขนาดการใช้อยู่ที่ 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน จากเดิมยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ 50 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนยาโปรตีเอส บริษัทไฟเซอร์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง