วันนี้ (3 ก.ย.2564) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยฉีดวัคซีน COVID-19 จำนวน 34.2 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มแรก 24 ล้านโดส เข็มสอง 9.1 ล้านโดส โดยมีผู้รับวัคซีนครบแล้ว 12.7 %
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีน COVID-19 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำจากคณะอนุกรรมกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่ประชุมกันเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ทั้งผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ และการศึกษาในประเทศไทย
ขณะนี้แนะนำสูตรวัคซีนไขว้ 2 สูตร ดังนี้ 1.ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย ปัจจุบัน ใช้ในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม 2.แอสตร้าเซนเนก้า+ไฟเซอร์ ห่างกัน 4-12 สัปดาห์
กลุ่มเป้าหมายหลักผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกกลุ่ม คาดว่าสูตรแอสตราเซเนกา ตามด้วยไฟเซอร์ จะเริ่มได้ในเดือนต.ค.นี้ หลังจากที่มีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอแล้วในประเทศ ซึ่งใน 3 เดือนหลังช่วง ต.ค.-ธ.ค.จะมีไฟเซอร์เข้าไทยเดือนละ 10 ล้านโดส
บู๊ตเตอร์โดส "แอสตรา-ไฟเซอร์"คนเคยติดโควิด
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนผู้ที่ได้รับซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม จะได้รับการกระตุ้นด้วยแอสตราเซนเนกา หรือไฟเซอร์ เพื่อบูสเตอร์เข็ม 3 แต่เบื้องต้นกรณีนี้บุคลากรทางการแพทย์จะได้ก่อน จากนั้นจะเป็นประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรังที่ได้ฉีดแอสตราเซเนกาแข็มแรกช่วงมิ.ย. ที่เริ่มครบกำหนดเข็มที่ 2 เมื่อไปรับเข็มที่ 2 โรงพยาบาลที่มีไฟเซอร์ ก็ใช้ไฟเซอร์ฉีดเป็นเข็ม 2 แทนแอสตราเซเนกาได้
ทั้งนี้ยังได้นำผลการวิจัยเบื้องต้นของการศึกษาความปลอดภัย และตอบสนองภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน COVID-19 สำหรับสูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ข้อมูลศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความปลอดภัยและการตอบสนองภูมิคุ้มกันมีความสอดคล้องกันคือ ภูมิคุ้มกันสูงสู้สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดียได้
นอกจากนี้ยังเตรียมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อหรือหายป่วยจาก COVID-19 อย่างน้อย 1-3 เดือน หลังตรวจพบเชื้อหายดี และพ้นระยะกักตัวแล้ว หรือหากหายป่วยเกิน 3 เดือน
โดยจะแนะนำให้เป็นแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน รวมทั้งผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบ และผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม แต่เข็มที่ 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ COVID-19
ไทม์ไลน์วัคซีน COVID-19 เข้าไทย
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีน COVID-19 ช่วง ก.ย.-ธ.ค.นี้ ไทยมีเป้าหมายฉีด 70% ของประชากร เพราะการระบาดของเดลตา มีการติดเชื้อได้มาก 1 คน อาจแพร่ 7-8 คน ภูมิคุ้มกันหมู่ 70% อาจไม่พอ ถ้ามีคนยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่เคยติดเชื้อเหลือเท่าไร พยายามฉีดให้หมด น่าจะขยับได้มากกว่า 70%
จากนี้จะมีวัคซีนหลัก 3 ตัว คือ ซิโนแวค ช่วงก.ย.-ต.ค.เดือนละ 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา ส่งมอบมากขึ้น ก.ย.จำนวน 7.3 ล้านโดส บริษัทบอกว่าอาจถึง 8 ล้านโดส จากนั้นในเดือน ต.ค.-ธ.ค. คือ 10, 13, 13 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ครบถ้วน 61 ล้านโดส ส่วนไฟเซอร์ ช่วงต.ค.ถึง ธ.ค.เดือนละ 8-10 ล้านโดส ทำให้แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ มีจำนวนมากสุดในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดโควิดรายใหม่ 14,653 กำลังรักษา 159,800 เสียชีวิตอีก 271 คน
เอกสารหลุด!อ้างพนักงานโรงแรมนับร้อยได้ฉีดไฟเซอร์
สธ.เตรียมฉีด "ไฟเซอร์" ให้เด็ก 5 ล้านโดส-วางแผนฉีดในโรงเรียน