ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้บริหาร สธ.แถลงนอกสภาฯ ยืนยันซื้อซิโนแวคไม่มี "เงินทอน"

สังคม
31 ส.ค. 64
16:23
2,439
Logo Thai PBS
ผู้บริหาร สธ.แถลงนอกสภาฯ ยืนยันซื้อซิโนแวคไม่มี "เงินทอน"
อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงคู่ขนานการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้แจงกรณีส่วนต่างซื้อวัคซีนซิโนแวค ยืนยันไม่มีเงินทอน เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขออย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค

วันนี้ (31 ส.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เดินทางไปที่สภาฯ แถลงข่าวชี้แจงอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรณีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ส่วนต่างและการเข้าร่วมโคแวกซ์

(อ่านเพิ่มเติม : ฝ่ายค้านตั้งคำถาม ส่วนต่างซื้อ "วัคซีนซิโนแวค" อยู่ที่ใคร?)

นพ.วิฑูรย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.อภิปรายว่า องค์การเภสัชฯ เป็นนายหน้าขายวัคซีนให้กับบริษัทซิโนแวค ในช่วงการแพร่ระบาดตอนแรก โดยระบุว่า องค์การเภสัชฯ ไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อโดยตรง แต่เป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งทำหน้าที่ แต่ทางการจีนไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้องค์การเภสัชฯ ต้องไปติดต่อเอง

ก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนคู่ประสาน ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งซิโนฟาร์มติดขัดปัญหามาก แต่ว่าซิโนแวคมีความยืดหยุ่นกว่า แต่การจัดหาวัคซีนต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเลือกซิโนแวคเพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนระหว่างรอวัคซีนแอสตราเซเนกา

ส่วนเรื่องราคามีการนำเข้า 16 ช่วง ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไปแต่ละช่วง ตั้งแต่ 17 เหรียญดอลลาร์ต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาก็ซื้อในราคาถูกเป็นลำดับ เพราะมีการต่อรองราคา จนมาถึงราคาสุดท้าย 8.9 เหรียญดอลลาร์ เฉลี่ยราคา 11.99 เหรียญดอลลาร์

ส่วนที่มีการอภิปรายว่ามีส่วนต่างจำนวนมากนั้น ยืนยันว่าไม่มีส่วนต่าง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะได้ใช้เงินองค์การเภสัชฯ จัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้นเมื่อได้ของแล้ว ก็กำหนดราคาขาย ซึ่งต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน

ยืนยันไม่มีส่วนต่าง กรอบการอนุมัติเป็นการขอเผื่อไว้ แต่เก็บราคาตามจริง โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง 2-4% และส่วนต่างที่เหลือไม่มีใครได้แน่นอน 100% ซึ่งงบประมาณตรงนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล และมีการเบิกจ่ายตามจริง

ชี้แจงวัคซีนสูตรไขว้ ฉีดเร็วกว่า-มีประสิทธิภาพ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 ขณะนั้นวัคซีนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ พบว่าวัคซีนสามารถลดการระบาดของโรคได้ และพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่ระดับ 70-80% ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันโรค COVID-19 ได้ 100% 

ภาพ : พรรคภูมิใจไทย

ภาพ : พรรคภูมิใจไทย

ภาพ : พรรคภูมิใจไทย


ทั้งนี้ ประเทศไทยพัฒนาสูตรฉีดวัคซีนที่เรียกว่า สูตรไขว้ โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็ม 1 และวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็ม 2 และพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ข้อดีคือ ฉีดได้เร็วขึ้น และภูมิคุ้มกันมากขึ้น ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ นักวิชาการจากหลายที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันว่าวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคพยายามจัดหาวัคซีนที่ค้นหาได้มาให้กับประชาชนอย่างทันเวลา

อธิบดีกรมควบคุมโรค ขออย่าด้อยค่าซิโนแวค

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกขณะนี้ก็ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก จึงเป็นตัวยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงต้นการระบาดที่ผ่านมา แม้ขณะนี้จะมีการระบาดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่ไทยก็ยังหาวิธีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ที่ทำให้ประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วขึ้น

วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้ช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี

ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายจึงไม่เป็นความจริง

สัญญาแอสตราฯ เงื่อนไขเหมือนกันทุกประเทศ

ขณะที่ นพ.นคร ระบุถึงสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้ทำการสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 เดือน พ.ย. ดังนั้น สัญญาการจองซื้อต้องอยู่ในเงื่อนไข มีโอกาสไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนในลักษณะช้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นเงื่อนไขทุกประเทศ และทุกคนต้องรับความเสี่ยงร่วมกัน

การสั่งซื้อวัคซีนไม่เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติจะเอาพื้นฐานความเข้าใจแบบเดิมมาตัดสินจะไม่เหมาะสม และไม่เข้ากับสถานการณ์

แจงปมไม่ร่วมโคแวกซ์ ชี้ซื้อวัคซีนได้แน่นอนกว่า

ส่วนการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์นั้น มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 139 ประเทศ แต่มีการแจกวัคซีนเพียง 224 ล้านโดส จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศได้รับวัคซีนไม่มาก การที่ไทยจัดซื้อวัคซีนโดยตรงทำให้ได้รับวัคซีนมากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า

ขณะนี้ไทยได้รับวัคซีน และฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 30 ล้านโดส ถ้าไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อาจจะไม่มีความแน่นอนในการได้รับวัคซีน และอาจได้รับวัคซีนที่น้อย เพราะเป็นการจัดหาโดยโครงการขนาดใหญ่ มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก และหากไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจัดซื้อ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าถ้าไทยจัดซื้อเองจากผู้ผลิตวัคซีนจะมีความแน่นอนกว่า จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่ในอนาคตหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยอาจจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการได้

ชี้แจง ATK ยืนยัน โปร่งใสตรวจสอบได้

ส่วนประเด็นการจัดซื้อชุดตรวจ ATK นั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันชุดตรวจ ATK โปร่งใส ตรวจสอบได้

ขณะที่ นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัช ยืนยันว่าการจัดซื้อบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นไปเพื่อประโยชน์ประเทศโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการบันทึกขั้นตอนการประมูล แข่งขันโดยสมบูรณ์ ได้ ATK มีคุณภาพ ราคาถูกสุดในขณะนั้น

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า มีการตรวจสอบชุดตรวจ ATK เรื่องความไวเชิงวินิจฉัย ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบ HOME USE ที่ประชาชนใช้เองซึ่งที่ท้วงติงของชมรมแพทย์เป็นคนละแบบกัน ซึ่งขณะนี้น่าจะเข้าใจตรงกันแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง