ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จ่าย 900 บาทจริงหรือ ? ต้นทุนเข้ามหาวิทยาลัย TCAS65

สังคม
23 ส.ค. 64
15:51
18,459
Logo Thai PBS
จ่าย 900 บาทจริงหรือ ? ต้นทุนเข้ามหาวิทยาลัย TCAS65
แพงหรือไม่ ? "900 บาท" ค่าเลือกอันดับสอบเข้ามหาวิทยาลัยใน TCAS 2565 จุดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์กับคำถามถึง ทปอ. เมื่อการศึกษาคือการลงทุน ในภาวะวิกฤต COVID19
ทปอ.มองนักเรียนและผู้ปกครองเป็นลูกค้า โดยที่ไม่แคร์เสียงลูกค้าเลย เพราะเป็นตลาดผูกขาด

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามไทยพีบีเอสออนไลน์ระหว่างพักเที่ยงก่อนเปลี่ยนคาบสอนออนไลน์ หลังตั้งข้อสังเกตถึงต้นทุนราคาแพงในการก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยของนักเรียนไทยสำหรับ TCAS ปี 2565 

จากเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่เปิดออกมาในส่วนของการเลือกอันดับ 900 บาทนั้น ยังไม่ใช่ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะค่าสอบนักเรียนหลายคนก็ต้องหาเงินมาจ่ายเช่นกัน ทำให้ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายอาจเริ่มต้นที่ประมาณ 1,300 - 1,500 บาทด้วยซ้ำ

GAT-PAT วิชาละ 140 บาท

GAT ความถนัดทั่วไป
PAT 1 คณิตศาสตร์
PAT 2 วิทยาศาสตร์
PAT 3 วิศวกรรมศาสตร์
PAT4 สถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 วิชาชีพครู
PAT 6 ศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7.1 - 7.7 ภาษาต่างประเทศ
(เลือกสมัครได้สูงสุด 15 วิชา จาก 23 วิชา)

9 วิชาสามัญ วิชาละ 100 บาท

ชีววิทยา ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาไทย สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม) คณิตศาสตร์ 2 (พื้นฐาน) ภาษาอังกฤษ เคมี

เลือกสมัครอันดับรอบแอมมิชชันได้สูงสุด 10 อันดับ

อันดับ 1 ค่าสมัคร 150 บาท
อันดับ 2 ค่าสมัคร 200 บาท
อันดับ 3 ค่าสมัคร 250 บาท
อันดับ 4 ค่าสมัคร 300 บาท
อันดับ 5 ค่าสมัคร 400 บาท
อันดับ 6 ค่าสมัคร 500 บาท
อันดับ 7 ค่าสมัคร 600 บาท
อันดับ 8 ค่าสมัคร 700 บาท
อันดับ 9 ค่าสมัคร 800 บาท
อันดับ 10 ค่าสมัคร 900 บาท

ผศ.อรรถพล ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งอยากสอบเข้าคณะสายศิลป์ ต้องสอบอย่างน้อย GAT PAT 5 และ PAT 7 ภาษาต่างประเทศ รวมถึง 9 วิชาสามัญอย่างน้อย 5 วิชา และเลือกอันดับการสอบอย่างน้อง 4 อันดับ รวมเป็นเงิน 140 + 140 + 140 + 100 +100 +100 +100 +100 + 300 = 1,220 บาท 

เมื่อถามว่าเงิน 1,300 - 1,500 บาท เด็กหามาจากไหนในภาวะที่พ่อม่ตกงาน สถานการณ์ COVID-19 ระบาดหนัก ลูกศิษย์คนหนึ่งต้องไปยืนรับจ้าง 1 ชั่วโมง 30 บาท แล้วเด็กคนนี้ต้องยืนกี่ชั่วโมงจึงจะจ่ายค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ยังไม่รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายรายวัน "เงิน 1,500 บาท เป็นครึ่งหนึ่งของค่าเช่าบ้านคนทั้งครอบครัวด้วยซ้ำ"

เด็กที่บ้านพร้อมก็ต้องเลือกเสียเงิน 900 บาท เลือกไว้ 10 อันดับ เพื่อให้มีติดสักที่ แต่คนที่ไม่พร้อมก็เลือกได้น้อยลง มันคือความเหลื่อมล้ำที่มาจากระบบ

มหาวิทยาลัยรับแค่เด็กที่พร้อม ตัดโอกาสคนทั้งครอบครัว

ผศ.อรรถพล ตั้งข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยมองตัวเองเป็นคนรับเข้า จึงมีสิทธิเลือก ช้อนเฉพาะคนที่พร้อม ขณะเดียวกัน ทปอ.ก็มองนักเรียนและผู้ปกครองเป็นลูกค้า โดยที่ไม่แคร์เสียงลูกค้า เพราะเป็นตลาดผูกขาด

ในส่วนประเด็นที่ที่การวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องอุดมศึกษารับเฉพาะคนที่พร้อม เพราะไม่ได้อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นเป็นไปไม่ได้ "ประเทศต้องพัฒนาคน จะมองการศึกษาเป็นธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้ ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ทุนนิยมจัด ยังไม่ทิ้งนักเรียนเช่นนี้"

เด็ก 1 คน จากครอบครัวชนบท อาจเป็นคนเดียวที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย แล้วมีโอกาสจะยกระดับครอบครัวมาเป็นชนชั้นกลางได้ แต่กลับถูกปฏิเสธโดยระบบ ทั้งที่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างทุกปี เพราะเด็กน้อยลงเรื่อยๆ 

ทั้งนี้ ผศ.อรรถพล ยังกังวลถึงการปรับเปลี่ยนหน้าตาข้อสอบ TCAS 2564 ทั้งที่ยังเรียนออนไลน์ "ทำให้โรงเรียนเป๋ นักเรียนก็บอบช้ำ" ขณะที่จะออก Test Blueprint มาช่วงปลายปี ซึ่งเด็กมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น

ค่าใช้จ่ายเพิ่มคุณสมบัติเป็นเฟรชชี่

ขณะที่ครูแนะแนวโรงเรียนแห่งหนึ่ง สรุปภาพรวมค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย 4 รอบ โดยระบุว่า รอบที่ 1 เป็นแฟ้มสะสมผลงาน นักเรียนมีค่าใช้จ่ายต่อสถาบันแห่งละประมาณ 200 - 1,000 บาท ซึ่งหากนักเรียนสนใจสมัครหลายสถาบันก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าสมัครเพิ่มขึ้นตามจำนวนสถาบันที่ต้องการ

ขณะที่ ในการสมัครในคณะแพทยศาสตร์ มีการกำหนดคุณสมบัติจำเพาะ คือ มีคะแนนผลสอบวัดความรู้ ความสามารถทางภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่าในระดับคะแนนที่กำหนดโดยเลือกสอบในประเภทใดประเภทหนึ่ง และใช้ผลสอบไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสุดท้ายที่สมัคร ดังนี้ CEFR 81,IEL TS 4.0,TOFEL (ITP) 460 TOFEL (IBT) 42 TOFEL (CBT) 123 CU-TEP 35

รวมถึงมีผลการสอบ Biomedical admissions test (BMAT) รวม 3 ตอนไม่ต่ำกว่า 5 โดยใช้ผลสอบไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันสุดท้ายที่สมัคร ซึ่งทั้งการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ และ การสอบ BMAT ล้วนมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คือ ค่ายอาสาของภาควิชา คณะ หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีก่อนรอบแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อให้นักเรียนได้เข้ามาเพิ่มคุณสมบัติและนำเกียรติบัตรไปแนบเพิ่มเติมด้วย จากการสำรวจบนออนไลน์พบว่า ค่ายเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ฟรีไปจนถึงประมาณ 800 บาท


ส่วนรอบที่ 2 เป็นรอบโควตา นักเรียนจะสมัครเข้าศึกษากับทางสถาบันได้โดยตรง โดยใช้คะแนนจากการสอบส่วนกลาง (คะแนน GAT PAT และ 9 วิชาสามัญ) ค่าสมัครแต่สถาบันอยู่ที่ราว 200 - 500 บาท หากนักเรียนต้องการสมัครหลายสถาบัน ก็จะต้องจ่ายค่าสมัครส่วนนี้เพิ่มเติม แต่มีบางมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้คะแนนสอบจากส่วนกลาง แต่ใช้คะแนนสอบจากมหาวิทยาลัยเอง โดยตั้งชื่อวิชาที่แตกต่างไปจากวิชาที่สอบจากส่วนกลาง และนักเรียนต้องเสียค่าสมัครสอบในส่วนนี้อีกหากต้องการศึกษาในสถาบันเหล่านั้น

รอบที่ 3 แอดมิชชัน ต้องเสียค่าสมัครสอบและค่าเลือกอันดับ 10 อันดับ 900 บาท และรอบที่ 4 เป็นการรับตรงอิสระของมหาวิทยาลัย

ครูแนะแนวคนนี้ บอกเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายที่มากมายเหล่านี้ ทำให้เด็กบางส่วนที่สู้ไม่ไหว หันหลังให้รั้วมหาวิทยาลัย แล้วก้าวสู่สายอาชีพหรือสอบเข้ารับราชการ เช่น เป็นนักเรียนนายสิบแทน ด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน กลายเป็นโอกาสที่ไม่เท่าเทียม ค่าใช้จากการสร้างรากฐานชีวิตอย่างการศึกษา กลับเป็นภาระให้เด็กแลผู้ปกครอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทปอ.สรุปหลักเกณฑ์ TCAS ปี 65 พร้อมเปลี่ยนทีมออกข้อสอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง