วันนี้ (16 ส.ค.2564) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงเหตุการณ์แพทย์หญิง โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช นำญาติเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากการสืบสวนผ่านผู้เกี่ยวข้อง ระบุว่า ในวันนั้นได้เบิกจ่ายวัคซีนจำนวน 11 ขวด จะมีผู้ได้รับวัคซีนซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่อำเภอที่เกิดเหตุ จำนวน 66 คน มารอรับ โดยวัคซีนไฟเซอร์ 1 ขวด ซึ่งจะสามารถฉีดให้กับบุคคลากรได้ 6 คน แต่มีเทคนิค คือ แต่ละขวดหากใช้วิธีการ Low Dead Space Syringe จะสามารถดึงวัคซีนฉีดได้ถึง 7 คน ซึ่งโดยปกติแต่ละขวดนั้นจะฉีดเฉพาะ 6 คน หรือ 6 โดสเท่านั้น ที่เหลือจะได้รับคำสั่งให้ทิ้ง ประเด็นนี้ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า โดยผู้ที่มารับวัคซีนซึ่งเป็นครอบครัวของแพทย์หญิงคนดังกล่าวนั้นได้รับวัคซีนจากส่วนที่เหลือ 1 คน คือพี่สาว
ขณะที่ นพ.จรัส พงษ์สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า จะดำเนินการทางวินัยในเรื่องที่เกิดขึ้น โดยได้ลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนการที่แพทย์หญิงคนดังกล่าวจะลาออกนั้นขณะนี้ยังไม่เห็นเอกสาร
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMh1PJIIenkW4DSjgKSgiDkjrY9ZF.jpg)
ย้ำต้องฉีด "ไฟเซอร์" ตามกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนกรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าที่ จ.สุรินทร์ มีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้นอกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นสายงาน Back office ไม่ใช่ด่านหน้า
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไฟเซอร์ เป็นไปตามจำนวนที่มีการสำรวจ และจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายตามที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อจัดส่งให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามนโยบายในการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์กับกลุ่มเป้าหมายก่อน
ดังนั้นเมื่อมีข้อร้องเรียนว่า พบการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มนอกเป้าหมายที่ไม่ได้กำหนดไว้ ขอให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไม่ว่าจังหวัดใดก็ตามหากมีเรื่องลักษณะนี้ ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรวจสอบแล้ว ขอให้รวบรวมข้อมูลส่งเรื่องเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์ จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากตามนโยบายการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตนี้ต้องเป็นไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด โดยต้องเน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดก่อน และกลุ่มเสี่ยง
นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ข้อมูลสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 14 ส.ค.2564 เวลา 18.00 น. มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 23,476,869 โดส หากแยกรายละเอียดเข็มที่ 1 จำนวน 17,879,206 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8 ส่วนผู้รับบริการที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมีจำนวน 5,073,672 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1.บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19
2. ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง
4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น