วันนี้ (30 ก.ค.2564) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติในกลุ่มป่าแก่งกระจานครั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งจากการประเมินขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เกี่ยวกับอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกมีถึงประมาณปีละ 1 ล้านคนตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
ไทยได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง จะกลายเป็นแม่เหล็กอีกหนึ่งตัว ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้กลับมาใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้ไทยอีกครั้งหลังสถานการณ์ COVID-19 ของไทยและของโลกดีขึ้น
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆด้านสิ่งแวดล้อมยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนมรดกโลก เพื่อนำมาใช้ ศึกษาวิจัยและดำเนินโครงการต่างๆ อนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงการขอเงินทุนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนป่าแก่งกระจานจะสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย
อ่านข่าวเพิ่ม ข่าวดี! "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" แห่งที่ 3 ของไทยแล้ว
เข้าเกณฑ์ข้อ 10 เป็นถิ่นอาศัยสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์
ด้านนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า คณะกรรมการมรดกโลก ได้พิจารณาเห็นว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทยเข้าหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลกตามข้อมติจากคณะกรรมการมรดกโลก
เนื่องจากกลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และแนวเชื่อมต่อป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี
สิ่งสำคัญยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี นับเป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากบนเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ พบชนิดพันธุ์สัตว์ 720 ชนิด ตามบัญชี IUCN Red List
นางรวีวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดที่ดินทำกินให้ชาวบ้านบางกลอย จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในหมู่บ้านบางกลอยเมื่อเดือน ม.ค.นี้ มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 113 ครอบครัว 673 คน และได้สำรวจการถือครองที่ดินของบ้านบางกลอย ตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่จะต้องนำผลการสำรวจและจัดทำแผนที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกิน
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ทำความเข้าใจกับผู้แทนประชาชนจากหมู่บ้านต่างๆ ภายในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และโดยรอบ 55 หมู่บ้าน รวมถึงหมู่บ้านชาวไทยและกะเหรี่ยงในพื้นที่ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งในระดับกลุ่มป่า ระดับพื้นที่อนุรักษ์ หมู่บ้าน กลุ่มบ้าน และผู้แทนจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ประเทศไทย โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
เร่งทำรายงานอนุรักษ์แก่งกระจานเสนอภายใน 1 ธ.ค.65
เลขาธิการ สผ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ของกลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกะเหรี่ยงในการบริหารจัดการพื้นที่ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย 2 คนร่วมเป็นกรรมการ ขณะเดียวกันยังจ้างงานชาวกะเหรี่ยงมาทำงานในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย
ส่วนการดูแลคุณภาพชีวิตรัฐบาลให้ความสำคัญการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า ควบคู่กับกับพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ และเสริมสร้างสุขอนามัยให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนี้ สผ.ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกจะต้องจัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกภายในวันที่ 1 ธ.ค.2565 ประกอบการพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทส.สยบข่าวไทยถอนตัว IUCN ยังเสนอ "แก่งกระจาน" เป็นมรดกโลก
เปิดถกมรดกโลก รอลุ้น "แก่งกระจาน" หลังเลื่อน 2 ปี
เบรกไทยสร้างเขื่อนรอบ "เขาใหญ่" เสี่ยงถูกถอดจากมรดกโลก