วันนี้ (12 ก.ค.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการใช้ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น ว่า ปัจจุบันมี 24 ยี่ห้อ และขึ้นทะเบียน เป็นแบบ Professional Use ต้องใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถตรวจเองได้ แต่ในอนาคตทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอให้ปลดล็อกตรงนี้ว่า หากมีการวางจำหน่ายในร้านยา ประชาชนก็อาจซื้อไปตรวจได้
สำหรับเก็บตัวอย่างนั้นทำเหมือนการตรวจแบบ RT-PCR คือแยงจมูก ไปจนคอหอย หรือทางช่องปาก ตรวจทางน้ำลาย ขึ้นอยู่กับชุดตรวจว่า ให้เก็บสิ่งส่งตรวจอย่างไร โดยการตรวจชนิดนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งความจำเพาะและความไว สู้แบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานไม่ได้ แต่การรอคิวนานชุดตรวจนี้ก็จะช่วยได้เบื้องต้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การใช้ชุดตรวจดังกล่าว เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ความจำเพาะและความไวจะสู้ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานไม่ได้ แต่การที่ต้องเข้าคิวนาน และการเข้าถึงยากลำบาก ชุดตรวจนี้จะช่วยคัดกรองได้เบื้องต้น
สำหรับคนที่มีอาการมากๆ ยังแนะนำให้ไปตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR แต่หากมีผู้ป่วยจำนวนมากคิวยาว สถานพยาบาลอาจจะใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit นี้ ตรวจก่อนได้ แล้วหากผลเป็นบวกก็ไปตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR เพื่อตรวจซ้ำ
ส่วนผู้ที่สงสัยอยากรู้ว่ามีโอกาส หรือไปสัมผัสติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการใดๆ เลย เบื้องต้นอาจจะไปตรวจที่คลินิก สถานบริการใกล้บ้านโดยเฉพาะในกทม. เพื่อขอให้ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจก่อน
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจกรณีผลลบเนื่องจากชุดตรวจ Antigen มีข้อจำกัด คือ หากเชื้อไม่มากพอก็อาจจะตรวจไม่พบ ดังนั้นอาจมีการตรวจซ้ำ แนะนำว่าหากยังไม่มีอาการใดๆ ก็ให้ตรวจซ้ำประมาณ 3-5 วัน แต่หากมีอาการ ก็ตรววจซ้ำได้เลย
ส่วนการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้ออาจพิจารณาร่วมกับการใช้วิธีอื่นๆ อีก เช่น การตรวจน้ำลาย, การตรวจแบบ Pooled Samples, LAMP, CRISPR เป็นต้น ซึ่งอาจจะช่วยลดเวลา ลดการรอคอยลงได้
ชุดตรวจ Antigen Test Kit ใช้อย่างไร
สำหรับองค์ประกอบของชุดตรวจ Antigen Test Kit ประกอบด้วย ตลับทดสอบ, หลอดใส่น้ำยาสกัด, ฝาหลอดหยด, ไม้ Swab, เอกสารกำกับชุดตรวจ ขณะที่การใช้ชุดตรวจ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.ใช้ไม้ swab แยงโพรงจมูก หมุนวนอย่างน้อย 5 รอบ
2.จุ่มไม้ swab ลงหลอดใส่น้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ นำไม้ Sawb ออก แล้วปิดด้วยฝาหลอดหยด แล้วหยดน้ำยาลงในตลับทดสอบตรงจุดที่กำหนด รอประมาณ 15 นาที
3.อ่านผลและแปลผลทดสอบ (T คือ ทดสอบ และ C คือ แถบควบคุม)
- ปรากฏ 2 แถบ T และ C คือ ผลเป็นบวก
- ปรากฏเฉพาะแถบ C คือ ผลเป็นลบ
- ไม่ปรากฏแถบ C คือ ผลใช้งานไม่ได้
4.นำชุดตรวจที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์ที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อและแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด ทิ้งให้เหมาะสม
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการข้างต้น ในส่วนของขั้นตอนการรายงานผล คือ ถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมระบุตัวตนและวันที่ทดสอบ รายงานผลกับหน่วยบริการสุขภาพ
ถ้าผลเป็นบวกต้องทำอะไรต่อ
กรณีผลทดสอบเป็นบวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้านที่ติดต่อได้, แยกกักตัวเองและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการหายใจลำบากควรติดต่อขอเข้ารักษา แจ้งผู้ใกล้ชิดให้ทราบความเสี่ยง เพื่อให้ทดสอบหาเชื้อต่อไป
ส่วนกรณีผลทดสอบเป็นลบหากเสี่ยงสูง แยกกักตัว ก่อนทดสอบซ้ำภายหลัง 3-5 วัน และหากมีอาการป่วยของโควิด-19 ควรทดสอบซ้ำทันที และหากมีประวัติเสี่ยงควรแยกกักตัว เพื่อป้องกันแพร่เชื้อไว้ก่อน
สำหรับข้อพึงระวัง ควรเก็บชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนด, ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจ, เตรียมพื้นที่สำหรับใช้ทดสอบให้สะอาด, อย่าเปิดหรือฉีดซองบรรจุตลับ จนกว่าจะทดสอบ, อ่านผลตรวจตามเวลาที่ชุดตรวจกำหนด, ไม่นำอุปกรณ์หรือตลับทดสอบอันเดิมมาใช้ซ้ำ, นำชุดตรวจที่ทดสอบแล้ว พร้อมอุปกรณ์ที่เหลือจากการใช้งานแช่น้ำยาฆ่าเชื้อและแยกใส่ถุงปิดให้มิดชิด ทิ้งให้เหมาะสม, ล้างมือหลังทำการทดสอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย.รับรอง 24 บริษัท นำเข้า "Rapid Antigen Test" ชุดตรวจเร่งด่วน
เริ่มวันแรก ใช้ "Rapid Antigen Test" ตรวจโควิดวันละ 1.2 หมื่นคน