ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้าวโพดกินป่า (จุดความร้อน) มลพิษข้ามแดน

Logo Thai PBS
ข้าวโพดกินป่า (จุดความร้อน) มลพิษข้ามแดน
กรีนพีช เปิดรายงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงป่าเป็นไร่ข้าวโพด ปัจจัยสำคัญมลพิษข้ามแดนจากหมอกควันไฟป่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบ 6 ปี ป่า 10.6 ล้านไร่ถูกทำลายสัมพันธ์กับจุดความร้อนในไร่ข้าวโพดที่มีถึง 30%

วันนี้ (6 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก Greenpeace Thailand เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ข้าวโพด และมลพิษข้ามพรมแดน ฉบับล่าสุดที่พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพด คืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเผาไหม้ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

รายงานการวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทยร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พบว่าพื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลาย และกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตตอนบนของสสป.ลาว

ภาพ: Greenpeace Thailand

ภาพ: Greenpeace Thailand

ภาพ: Greenpeace Thailand

 

การวิเคราะห์จุดความร้อนจากภาพดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIR ที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ 375 เมตร ถึงสัดส่วนของจำนวนจุดความร้อน แยกตามสิ่งปกคลุมดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของสปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา เฉลี่ย 6 ปี ระหว่างปี 2558-2563

พบว่าโดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของจุดความร้อนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด และสามารถวิเคราะห์เพื่อชี้ชัดถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากจุดความร้อนที่พบในแต่ละประเภทการใช้ที่ดิน สิ่งปกคลุมดินเป็นข้อบ่งชี้ได้ 

ภาพ : Greenpeace Thailand

ภาพ : Greenpeace Thailand

ภาพ : Greenpeace Thailand

ปี 62 พบจุดความร้อนในป่าข้าวโพดมากสุดถึง 30%

จากข้อมูลจุดความร้อนจากภาพดาวเทียม มีข้อสังเกตดังนี้จุดความร้อนที่ตรวจพบ และอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้นพบมากที่สุดในเดือนเม.ย.เกือบทุกปี สอดคล้องกับจุดความร้อนที่เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา และสะสมมากที่สุดช่วงปลายมี.ค. ถึงกลางเม.ย.ของทั้ง 3 ประเทศ

พื้นที่ป่าและพื้นที่ปลูกข้าวโพด คือที่มาหลักของจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปี 2558-2563 แต่ปี 2562 เป็นปีที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ปลูกข้าวโพด

ทั้งนี้รายงานยังระบุว่า จุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบอยู่ในการใช้ที่ดินประเภทป่าผลัดใบมากที่สุดร้อยละ 34.77 รองลงมา คือพื้นที่ปลูกข้าวโพด ร้อยละ 30.16 

และพื้นที่ป่าไม่ผลัดใบร้อยละ 18.58 ของพื้นที่ทั้งหมด และตอนบนของ สปป.ลาวเป็นพื้นที่ที่พบจุดความร้อนเฉลี่ยต่อเดือนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุด รัฐฉานของเมียนมา พบจุดความร้อนเฉลี่ยต่อเดือนในพื้นที่ป่าผลัดใบมากที่สุด และตอนบนของไทย เป็นพื้นที่ที่พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าผลัดใบมากที่สุด

ภาพ: Greenpeace Thailand

ภาพ: Greenpeace Thailand

ภาพ: Greenpeace Thailand

 

ทั้งนี้จุดที่มีค่าความร้อนผิดปกติบนผิวโลก (สูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) วัดจากอุปกรณ์ที่ตรวจวัดค่าความร้อนบนดาวเทียม สามารถบอกความรุนแรงของการเผาไหม้ เป็นประโยชน์ต่อการประเมินสถานการณ์ไฟและวางแผนควบคุมได้ และยังได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ข้าวโพด และมลพิษข้ามพรมแดน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง