ช่วง ต.ค. – เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมของฝั่งอ่าวไทย ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเลจะพบกับปรากฎการณ์หนึ่งเป็นประจำทุกปี คือ ก้อนน้ำมันดินซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดกรวดไปจนถึงขนาดใหญ่เท่ากำปั้นลอยมาติดชายฝั่งปะปนอยู่กับขยะทะเล
เมื่ออยู่บนชายฝั่ง ในช่วงแรกก้อนน้ำมันดินจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง แต่เมื่อถูกความร้อนในช่วงเวลากลางวัน จะละลายเป็นของเหลวปะปนไปกับทราย คนเฒ่าคนแก่บางคนบอกว่าเห็นก้อนน้ำมันดินเหล่านี้มาตั้งแต่พวกเขาจำความได้ หรือไม่ต่ำกว่า 40-50 ปีแล้ว แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ก้อนน้ำมันดินที่พบตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยกว่า 50 ปีที่ผ่านมา มาจากไหน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญพูดตรงกัน คือ ก้อนน้ำมันดินเกิดจากการรั่วไหลจากการกระทำของมนุษย์อย่างแน่นอน แต่ปัญหาคือในอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอยู่ไม่น้อย ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ
สมมติฐานที่มาของก้อนน้ำมันดิน
แท่นขุดเจาะน้ำมัน - ในอ่าวไทยมีแท่นขุดเจาะมากกว่า 400 แท่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีน้ำมันรั่วไหลจากขั้นตอนการขุดเจาะน้ำมัน ณ แท่นใดแท่นหนึ่งขึ้น น้ำมันเหล่านี้จะสะสมอยู่ในทะเล เมื่อถึงฤดูมรสุมที่ลมพัดเข้าฝั่งจึงถูกพัดพาเข้ามาติดชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านหลายคน บอกว่า พบก้อนน้ำมันลักษณะนี้มานานกว่า 40-50 ปีแล้ว ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีแท่นขุดเจาะน้ำมันเกิดขึ้นในอ่าวไทย ประกอบกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างน้ำมันดินที่พบบนฝั่งไปวิเคราะห์ทุกปี ผลออกมาว่าก้อนน้ำมันดินที่พบไม่ตรงกับน้ำมันจากแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย
เราเก็บก้อนน้ำมันจากชายหาดต่าง ๆ มาวิเคราะห์ หลังจากที่วิเคราะห์ก้อนน้ำมันกับวิเคราะห์น้ำมันจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ปรากฏว่าไม่ได้มีผลตรงกัน ก็สรุปได้ว่า ก้อนน้ำมันที่พบกับน้ำมันที่ผลิตได้จากอ่าวไทยเป็นคนละส่วนกัน
ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์
ผอ.กองจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
เรือขนส่งน้ำมันดิบ - เรือขนส่งน้ำมันเป็นอีกหนึ่งผู้ต้องสงสัย เพราะเมื่อขนส่งน้ำมันเสร็จแล้ว จะต้องล้างถังเก็บน้ำมัน ซึ่งหากทำอย่างถูกต้องจะมีค่าใช้จ่ายในการบำบัดและกำจัดกากของเสีย ผู้ประกอบการบางรายจึงอาจลักลอบล้างถังและทิ้งกากของเสียไว้กลางทะเล เพื่อลดต้นทุนในการบำบัด นอกจากนี้ ในอ่าวไทยยังมีการลักลอบขนส่งน้ำมันเถื่อน โดยใช้เรือประมงดัดแปลง หากมีการรั่วไหล หรือเกิดอุบัติเหตุอับปาง น้ำมันอาจตกค้างอยู่ในทะเลได้
เรือสินค้า – มีการตั้งข้อสังเกตว่า อ่าวไทยเป็นเส้นทางผ่านของเรือขนส่งสินค้ามานานแล้ว ในอดีตอาจมีการลักลอบถ่ายน้ำมันเครื่องใช้แล้วจากเรือสินค้า หรือ ทิ้งน้ำจากห้องใต้ท้องเรือซึ่งมีน้ำมันผสมอยู่ เมื่อมีการกระทำลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีน้ำมันปริมาณมากตกค้างอยู่ในทะเล
จากปริมาณและลักษณะของน้ำมันที่แสดงให้เห็นเป็นลักษณะของน้ำมันที่ค่อนข้างใหม่เพราะฉะนั้นอาจเกิดจากการรั่วไหลจากการทำงานของเครื่องยนต์ในเรือ เช่น อาจมีการทิ้งน้ำอับเฉาเรือหรือปล่อยน้ำที่อยู่ในห้องท้องเรือออกมา หรืออาจลักลอบจงใจทิ้งก็เป็นไปได้เหมือนกัน
ศุภวัตร กาญจน์อติเรกลาภ
รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
เนื่องจาก อ่าวไทยเป็นอ่าวเปิด มีอาณาเขตติดต่อกับหลายประเทศ อาจเป็นไปได้ว่าน้ำมันที่ลอยมาติดฝั่งอาจมีที่มาจากต่างประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป