ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ระเบิดเวลาที่ดินศรีเทพ

สังคม
14 เม.ย. 64
14:03
1,825
Logo Thai PBS
เปิดปม : ระเบิดเวลาที่ดินศรีเทพ
การขอขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมส่อเค้าวุ่น หลังมีปัญหาแนวเขตที่ดินเมืองโบราณศรีเทพทับซ้อนกับชุมชน ขณะที่ ข้อมูลยื่นคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาถูกชุมชนโต้แย้งเช่นกัน

แนวเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพทับซ้อนกับชุมชน

ชาวบ้านบางส่วนใน ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ พบว่า ไม่สามารถเปลี่ยน น.ส.3 ก เป็นโฉนดที่ดิน โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรีว่าถูกกรมศิลปากรคัดค้านการออกโฉนดเนื่องจากที่ดินอยู่ในเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพ

พวกเขาตกใจกับข้อมูลที่ได้รับเพราะไม่เคยทราบมาก่อนว่าที่ดินของตนเองอยู่ในเขตโบราณสถาน เนื่องจากเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินมาตั้งแต่รุ่นปู่ตกทอดมาถึงทายาทรุ่นล่าสุดโดยไม่มีปัญหาใดๆ

ย้อนกลับไปปี 2506 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพเป็นโบราณสถาน ผังที่แนบมาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ปรากฏแนวเขตที่ขึ้นทะเบียนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมแนวเขตเมืองโบราณทั้งหมด ไม่ได้จำกัดแนวเขตอยู่รอบๆ บริเวณคูน้ำเท่านั้น ปัจจุบันพบว่าประชิดแนวคูน้ำและกำแพงดินเมืองโบราณศรีเทพ ส่วนหนึ่งเป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และวัดของชาวบ้านบางส่วนใน ต.ศรีเทพ

                                               ภาพ : เขตโบราณสถานเมืองศรีเทพและบริเวณรอบๆ 

นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา ไม่เคยพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ คนใดเป็นผู้คัดค้านการออกโฉนดของชาวบ้าน และที่ดินในแนวเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพซึ่งประกาศเมื่อปี 2506 เพราะกรมศิลปากรไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นเพียงผู้เข้ามาดูแลและอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ตามประกาศเท่านั้น ส่วนหน่วยงานที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินคือ กรมธนารักษ์

เมื่อสอบถามไปยังสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เพชรบูรณ์ พบว่า พื้นที่ของกรมธนารักษ์ในเขตเมืองโบราณศรีเทพจำกัดแนวเขตอยู่ที่คูน้ำและกำแพงดินเมืองเก่าเท่านั้น

จนถึงตอนนี้ ยังจึงไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ค้านการออกโฉนดที่ดินของชาวบ้าน และ คำถามสำคัญคือ แนวเขตเมืองโบราณศรีเทพซึ่งประกาศเมื่อปี 2506 เนื้อที่กว่า 2,887 ไร่ เป็นอย่างไร  หน่วยงานใดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิที่ดินในเขตโบราณสถานฯ ดังกล่าว และ ที่ผ่านมา ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้ชาวบ้านได้อย่างไร

เสนอเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพปี 2506 เป็นมรดกโลก

                                                         ภาพ : ผังเมืองโบราณศรีเทพ

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า เมืองโบราณศรีเทพพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย บริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว หรือช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-10 นอกจากนี้ ยังพบว่าเอกลักษณ์ของผังเมืองโบราณศรีเทพคือการผสมผสานผังเมืองสมัยทวารวดีทั้ง 2 รูปแบบไว้ด้วยกัน ได้แก่ ผังเมืองเดิมรูปเกือบทรงกลมของตัวเมืองใน และขยายออกเป็นเมืองนอก มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามน ซึ่งยังคงความสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

 

โบราณสถานในเมืองศรีเทพส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อจากศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังพบงานสกุลช่างศรีเทพ ซึ่งมีเทคนิคงานประติมากรรมแบบลอยตัวอย่างแท้จริง ต่างจากประติมากรรมแหล่งอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน

                                                                ภาพ : เขาคลังนอก

ห่างออกไปทางทิศเหนือ คือ เขาคลังนอก ศาสนสถานขนาดใหญ่ จากการขุดแต่ง พบว่า มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนฐานด้วยรูปจำลองทรงปราสาท ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นตามแนวคิดเรื่องมณฑลจักรวาลซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมหายาน

                                                               ภาพ : ประติมากรรมในถ้ำเขาถมอรัตน์

ห่างจากเขาคลังนอกไปทางทิศตะวันตก 15 กม. คือ ถ้ำเขาถมอรัตน์ ศาสนสถานในถ้ำวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายในถ้ำพบร่องรอยรูปสลักพระพุทธรูปยืน และพระโพธิสัตว์จำนวน 7 องค์ เกือบทั้งหมดถูกตัดเศียรและพระกรไปขายให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณเมื่อปี 2510 แต่กรมศิลปากรยึดคืนกลับมาแล้ว และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ และ ลพบุรี

ด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น รัฐบาลจึงเสนอให้เมืองโบราณศรีเทพ เขาคลังนอก และถ้ำเขาถมอรัตน์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ชุมชนแย้งข้อมูลแนวเขตที่ดินยื่นมรดกโลกมีปัญหา

รัฐบาลเสนอให้เมืองโบราณศรีเทพ เขาคลังนอก และถ้ำเขาถมอรัตน์เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ต่อมามีผู้สังเกตเห็นว่าแนวเขต Core Zone หรือพื้นที่หลักที่นำเสนอคณะกรรมการมรดกโลกยึดแนวเขตตามประกาศปี 2506 ของกรมศิลปากร

โดยหลักการแล้ว พื้นที่ Core Zone คือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น ห้ามก่อสร้างอาคารชั่วคราวและถาวร ห้ามทำเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และห้ามถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด ห้ามปรับพื้นที่และเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ

ชาวบ้านซึ่งมีปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินทับซ้อนกับแนวเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพก่อนหน้านี้ จึงยิ่งมีความรู้สึกกังวลว่าจะสูญเสียที่ดินทำกินหรือไม่ เนื่องจากที่ดินของตนเองอยู่ในพื้นที่ Core Zone และหากในอนาคตเมืองโบราณศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก พวกเขาจะได้รับค่าเวนคืนที่ดินและค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้อย่างไร หากสมมติว่าผลการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ระบุว่าพวกเขาไม่ได้มีสิทธิในที่ดินนั้นตั้งแต่แรก

                                                ภาพ : เนื้อหาส่วนหนึ่งในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลก

นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ Core zone ของเขาคลังนอกถูกระบุในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลกว่าขยายไปจากขอบเขตเดิม ซึ่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้เมื่อปี 2506 หลังจากพบเจดีย์ที่แสดงถึงมณฑล เพิ่มเติมมาด้านละ 3 องค์ โดยพบว่าขยายเป็นพื้นที่ 10 กว่าเฮกเตอร์ หรือ 63 ไร่ จากพื้นที่เดิมประมาณ 14 ไร่ หรือ 2.256 เฮกเตอร์

ในเอกสารระบุว่าการขยายขอบเขตแนว Core Zone ที่เกิดขึ้น ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านผ่านการทำประชาพิจารณ์และเข้าสู่ขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน แผนการเวนคืนที่ดินบริเวณเขาคลังนอก ยังถูกระบุไว้ในเอกสารฉบับเดียวกัน ในหัวข้อแผนงานที่ดิน ตามแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ปี 2561-2565 ซึ่งเป็นแผนอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม

นายสุรพล ขันหล่อ ผู้ใหญ่บ้าน ม.11 ต.ศรีเทพ ซึ่งเป็นชุมชนติดกับเขาคลังนอก บอกว่า ไม่เคยมีชาวบ้านคนใดทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณรอบเขาคลังนอกมาก่อน

นายสุรพลเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่อาจถูกเวนคืน เนื่องจากเจดีย์รายเขาคลังนอกตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมของเขา นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการขยายแนวเขตโบราณสถานในบริเวณรอบๆ เขาคลังนอกมาก่อนเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาจึงสงสัยว่าข้อมูลในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลกระบุข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไร

กังขา? ประชาพิจารณ์พื้นที่มรดกโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม (กธศ.) จัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกเมื่อเดือนตุลาคม 2562 จำนวน 3 ครั้ง

แม้ผลแบบสอบถาม ระบุว่า ประชาชนที่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ทั้ง 3 ครั้ง เห็นด้วยกับแนวเขต Core Zone และ Buffer Zone ที่นำเสนอคณะกรรมการมรดกโลก แต่การประชาพิจารณ์ในครั้งนั้น ก็ถูกตั้งคำถามจากผู้ร่วมประชุมบางส่วน ว่าทำไมไม่มีการระบุแนวขอบเขตให้ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า พื้นที่ Core Zone ของเมืองโบราณศรีเทพ ไม่เกินจากแนวถนนรอบคูน้ำโบราณ และพื้นที่ Core Zone เขาคลังนอก ไม่เกินจากแนวถนนรอบโบราณสถานหลัก

                                                             ภาพ : แผนที่ที่นำเสนอในวันประชาพิจารณ์

                                                            ภาพ : แผนที่ที่นำเสนอคณะกรรมการมรดกโลก

ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า แผนที่ขนาดใหญ่ที่นำมาเสนอในวันประชาพิจารณ์ ขาดรายละเอียดเรื่องแนวเขตที่ดิน และไม่ใช่ภาพแผนที่จริงที่ระบุแนว core zone และ buffer zone ตามที่เสนอในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลก

เบื้องต้น ชุมชนใน ต.ศรีเทพ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้ามาพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน รวมถึง สะสางปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนกันระหว่างชาวบ้านกับกรมศิลปากร

ทางออกหลังเปิดปมเสนอปัญหาที่ดินเมืองโบราณศรีเทพ

วันที่ 8 เม.ย. 2564 นายบวรเวท รุ่งรุจี หัวหน้าคณะทำงานเร่งรัดการจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก นำคณะฯ ประชุม รับฟังปัญหาจากผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขต ต.ศรีเทพ ได้ข้อสรุปการประชุมว่า การประกาศเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2506 นั้น ประชาชนยังมีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้านนอกโบราณสถานเมืองนอกและเมืองใน ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านนอกคูเมืองและกำแพงเมือง แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงขอใช้พื้นที่เพื่อทำการใดๆ สามารถยื่นขออนุญาตได้ และเป็นอำนาจเฉพาะของอธิบดีกรมศิลปากรตาม พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุฯ ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต

สำหรับการยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกจำเป็นต้องเขียนแผนการพัฒนาพื้นที่ไว้เพราะเป็นข้อกำหนดในการเขียนเอกสารเพื่อเป็นมรดกโลก แต่คณะทำงานขับเคลื่อนได้จัดทำข้อตกลง MOU ไว้กับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมศิลปากร การดำเนินการใดๆ ในพื้นที่แหล่งโบราณสถานจักต้องมีความคิดเห็นร่วมกัน

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่นที่เข้าประชุม ได้มีความเข้าใจตรงกัน และคลายความกังวลในประเด็นการเวนคืนที่ดินและการยังคงกรรมสิทธิ์ สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่กระทบแต่อย่างใด สาเหตุความวิตกของประชาชน เนื่องจากเขตด้านนอกคูเมือง และบริเวณเขาคลังนอกเป็นพื้นที่บ้านเรือนอยู่อาศัยของประชาชนหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 11 ตำบลศรีเทพ

นอกจากนี้คณะทำงานฯ จะประสานกรมศิลปากรมารังวัดเขตที่ดิน และหมุดที่ดินของเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยรอบได้ทราบเขตพื้นที่ชัดเจน จะแจ้งกำหนดให้ทราบต่อไป

 

 จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง