วันนี้ (1 เม.ย.2564) หญิง อายุ 18 ปี ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดจากการโจมตีด้วยเครื่องบินของทหารเมียนมา เมื่อคืนวันที่ 27 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา เล่าว่า ขณะที่นั่งอยู่ในบ้าน เวลาประมาณ 20.00 น. ได้ยินเสียงเครื่องบินบนท้องฟ้า จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังสนั่น จึงได้พากันวิ่งหนีออกจากบ้าน และวิ่งไปหลบในป่าข้างหมู่บ้าน เมื่อเสียงเครื่องบินสงบ จึงได้ออกมาจากป่าวิ่งกลับบ้าน
ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ได้ยินเสียงเครื่องบินดังอีกครั้ง จึงได้วิ่งหนีเข้าป่าอีกรอบ จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นใกล้ตัวและสลบไปก่อนจะรู้สึกตัวในช่วงเช้าอีกวัน และมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก กับมีบาดแผลที่ใบหน้า จึงได้หนีเข้าชายแดนไทย โดยใช้เวลา 2 วัน จากนั้นจึงได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ขอวิงวอน ให้ทหารเมียนมายุติการโจมตีต่อพลเรือน ในวันที่ถูกโจมตี ตอนฟื้นขึ้นมาพบศพเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบ เสียชีวิตต่อหน้า ทำให้รู้สึกหวาดกลัวมาก
ทั้งนี้ นพ.จักกรี คมสาคร ผอ.โรงพยาบาลสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาล ได้มีการเตรียมความพร้อม ในการรับมือผู้ป่วยในเมียนมาที่ส่งมารักษาตัวในไทย เเละต้องทำการรักษาเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
ผู้หนีภัยความไม่สงบกลับเมียนมาแล้ว 56 คน
ขณะที่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่พักอาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ในเขตประเทศไทย ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติสาละวิน บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 56 คน ได้เดินทางกลับไปประเทศเมียนมา โดยความสมัครใจ ด้วยเรือยนต์ขนาดกลาง จำนวน 5 ลำ
นอกจากนี้ ยังมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่ยังตกค้าง 2 จุด อยู่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน ใกล้กับฐานออเลาะ 180 คน และบริเวณหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าไม้บ้านผาแดง 21 คน ในพื้นที่ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง โดยส่วนใหญ่เป็น เด็ก สตรี คนชรา และ คนป่วย กำลังเตรียมที่จะเดินทางกลับไปยังฝั่งเมียมาต่อไป
ส่วนสถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย และพื้นที่ตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ยังไม่มีการเคลื่อนไหวของการสู้รบทั้งสองฝ่าย
กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบประจำการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันทางกองทัพอากาศเมียนมาได้ส่งเครื่องบินรบไปประจำการที่เมืองน้ำจ๋างและเมืองเชียงตุงอย่างน้อย 2 ลำ ซึ่งเมืองเชียงตุง ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 168 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยมซึ่งดูแลรัฐฉานตะวันออก
ขณะที่ตัวเมือง จ.ท่าขี้เหล็ก ติดกับ อ.แม่สาย และใกล้กับ อ.แม่ฟ้าหลวง มีบุคคลระดับนายทหารและครอบครัวพากันเข้าพักจนเต็มหลายแห่ง คาดว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการดังกล่าว หลังจากทาง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำการปฏิวัติในเมียนมา เพิ่งเดินทางมาที่เมืองท่าขี้เหล็กและเมืองเชียงตุงเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวกะเหรี่ยงจากประเทศเมียนมา ข้ามมาบริเวณชายแดนไทยด้านตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนประมาณ 2,000 คน ได้กระจายตัวตามแนวตะเข็บชายแดน ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอขุนยวม บางส่วนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
กรณีหากสถานการณ์ยกระดับความรุนแรงขึ้น จังหวัดจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในระดับจังหวัด
โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งนี้หากเกินกำลังในระดับจังหวัดจะขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกระทรวงมหาดไทย
ทางจังหวัดพิจารณาเปิดการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่อนปรนการค้าต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 เป็นต้นไป คือ จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางห้วยต้นนุ่น หมู่ที่ 4 ต.แม่เงา อ.ขุนยวม
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านเสาหิน หมู่ที่ 1 ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านแม่สามแลบ หมู่ 1 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 3 ต.ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน
- จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านน้ำเพียงติน หมู่ที่ 3 ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน แต่ให้ดำเนินการได้เฉพาะการนำเข้า - ส่งออกสินค้า
โดยให้ขนถ่ายสินค้าบริเวณจุดผ่อนปรนที่กำหนดเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการข้ามแดนของบุคคลและยานพาหนะ และให้ปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติคเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด