เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชี้แจงว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสมทั้งหมด 10,574 จุด คิดเป็นร้อยละ 61.74 ของจุดความร้อนสะสมปี 2563 หรือคิดเป็นร้อยละ 123.47ของค่าเป้าหมายปี 2564
ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายปี 2564 ไม่เกิน 8,304 จุด โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อ.แม่สะเรียง 3,087 จุด รองลงมา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 2,211 จุด อ.ปาย 1,590 จุด อ.ปางมะผ้า 1,027 จุด อ.แม่ลาน้อย 979 จุด อ.ขุนยวม 892 จุด และ อ.สบเมย 788 จุด ตามลำดับ
และพบว่าจุดความร้อนสะสมตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม 10,574 จุด หรือร้อยละ 61.74 โดยพบจุดความร้อนสูงสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 6736 จุด คิดเป็นร้อยละ 65.68 รองลงมา พื้นที่ป่าสงวน 3,639 จุด คิดเป็นร้อยละ 56.30 ตามลำดับ
ด้านคุณภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 25 มี.ค.2564 ค่า PM 2.5 ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีค่าเกินมาตรฐาน 33วัน โดยมีค่าสูงสุดที่วัดได้ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564
ส่วนของการแก้ไขปัญหาไฟป่าในห้วงประกาศห้ามเผาเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน ทางศูนย์อำนวยการควบคุม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟป่าแม่ฮ่องสอน ได้ประชุมติดตามวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษอย่างใกล้ชิดทุกวัน เพื่อทราบข้อมูล พื้นที่ สาเหตุ จุดความร้อนที่เกิดขึ้น ลุกลามจากจุดเดียวกัน หรือเป็นบริเวณกว้าง
จากรายงานการพบจุดความร้อนติดต่อกัน 3 วัน ในช่วงวันที่ 25 - 27 มี.ค.2564 อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 140 จุด รองลงมาได้แก่ อ.แม่สะเรียง 54 จุด ขณะที่ผลการชิงเก็บ ลดเผาใบไม้ในพื้นที่ นำไปส่งโรงงานเผาถ่านในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ภาพรวมสามารถจัดเก็บใบไม้ได้ 154 ตัน โดยเก็บในพื้นที่ชุมชน 26 ตัน พื้นที่ป่าไม้ 97 ตัน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 31 ตัน