ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีพบสันดอนทรายซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเกิดขึ้นเป็นแนวยาวขนานไปกับร่องน้ำที่มีการขุดลอกรอบอ่าวปัตตานี หลังจากโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลร่องน้ำอ่าวปัตตานี ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 664 ล้านบาทเสร็จสิ้นลงเมื่อปี 2563
สันดอนทรายที่เกิดขึ้นใหม่เป็นอุปสรรคในการเดินเรืออย่างมาก โดยเฉพาะชาวประมงที่ต้องออกเรือช่วงเช้ามืดหรือเวลากลางคืน เพราะเมื่อมองไม่เห็นสันดอนที่อยู่ใต้น้ำ หรือ สัญจรผ่านโดยไม่รู้อาจทำให้เรือเข้าไปติดบนสันดอนจนเกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ชาวประมงในพื้นที่หลายคนยังพูดตรงกันว่า หลังการขุดลอกอ่าวปัตตานี ทรัพยากรในทะเลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ปูม้าและปลากระบอก
ทำงานก็ลำบากปลาก็น้อย กุ้งก็หายาก บางวันก็จับได้บ้าง บางวันกลับบ้านเฉย ๆ ก็มี ถ้าให้เปรียบเทียบคือ เมื่อก่อนมันดีกว่านี้ ทำอวนปูได้เงินเยอะกว่าตอนนี้ หลังจากที่เขาขุดลอกจับปูได้น้อยมาก
ผศ.นุกูล รัตนดากุล อดีตอาจารย์ประจำแผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูลว่า อ่าวปัตตานีมีเนื้อที่ 74 ตารางกิโลเมตร
เป็นอ่าวที่มีอัตราการตกตะกอนสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่กระแสน้ำทะเลจากอ่าวไทยปะทะกับกระแสน้ำจืดจากแม่น้ำปัตตานี ทำให้ตะกอนที่แหล่งน้ำทั้งสองแห่งพัดพามาลดความเร็วลงและตกลงสู่ก้นอ่าว จึงเกิดการตื้นเขินตลอดเวลา
ในอนาคตหากไม่มีการขุดลอก พื้นที่อ่าวปัตตานีจะกลายเป็นป่าพรุหรือป่าที่มีน้ำท่วมขัง และกลายเป็นผืนแผ่นดินในที่สุด
ด้วยระบบภูมินิเวศดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยามองว่า การขุดลอกอ่าวปัตตานีอาจต้องทำเป็นประจำทุกปี และต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดำเนินโครงการ
การที่เราจะไปขุดมันก็จะต้องขุดเป็นนิรันดร์ไม่มีทางสิ้นสุด เหมือนเราเอาเพชรมาทิ้งทะเลเพราะจะแก้ได้ชั่วคราวแล้วกลับมาตื้นอีก แล้ววิถีชีวิตที่เคยเป็นอยู่ก็ต้องปรับตัวอย่างกระทันหันซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว มันกระทบการวางอวนของชาวบ้านเพราะเราไปเปลี่ยนระบบภูมินิเวศของมัน
โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลร่องน้ำอ่าวปัตตานีของกรมเจ้าท่า ขุดลอกทั้งหมด 23 ร่องน้ำ ประกอบด้วยร่องน้ำแกนหลักรูปเกือกม้าระยะทาง 25 กิโลเมตรรอบอ่าวปัตตานี กว้าง 50 เมตร ลึก 5 เมตรและร่องน้ำชุมชน 22 ร่องน้ำ กว้าง 20-40 เมตร ลึก 2.5 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร
ตามเอกสารข้อกำหนดงานจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวปัตตานี ระบุว่า วัสดุขุดลอกทั้งหมดต้องถูกนำไปทิ้งกลางทะเลห่างออกไป 9 กิโลเมตรจากปากร่องน้ำปัตตานี และ ทิ้งตามแนวชายฝั่งในเขตพื้นที่ดูแลของกรมเจ้าท่า
นายอนันต์ แก้ววิเชียร ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ยอมรับว่าบริเวณที่พบสันดอนทรายกลางอ่าวปัตตานีอยู่นอกเหนือจากพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นที่ทิ้งวัสดุตามสัญญาที่ระบุไว้ แต่เป็นเพราะมีชาวบ้านบางส่วนร้องขอให้ทำสันดอนทรายเพื่อจอดเรือประมงจึงดำเนินการให้ โดยอ้างถึงจดหมาย 2 ฉบับ ซึ่งระบุชื่อผู้ใหญ่บ้านดาโต๊ะหมู่ 4 ต.แหลมโพธิ์ และกำนัน ต.บาราโหม อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พร้อมรายชื่อชาวบ้านรวม 60 คน ส่งถึง ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 ในวันที่ 20 และ 25 พ.ค. 2562
เนื้อความในจดหมายทั้ง 2 ฉบับ ระบุตรงกันว่า “ขอความอนุเคราะห์ดินจากการขุดลอกเพื่อทำเป็นแนวคันดินด้านข้างร่องน้ำ ให้สามารถสังเกตเห็นร่องน้ำได้อย่างชัดเจน และเพื่อทำเป็นแนวกันคลื่นสำหรับจอดพักเรือในอ่าวปัตตานีเมื่อถึงฤดูมรสุม”
จริง ๆ เป็นความต้องการของพื้นที่ที่ขอความอนุเคราะห์จากกรมเจ้าท่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งอยากให้กรมฯ ช่วยปรับสภาพสันดอนทรายให้เป็นเนินเพื่อหลบคลื่นลมหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในเวลานั้นมีการขอความอนุเคราะห์มา ซึ่งเป็นงานที่อยู่นอกสัญญา เราก็ขอให้ทางผู้ดำเนินการทำตรงนี้ให้
ความเดือดร้อนที่ได้รับทำให้ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานี ร้องเรียนไปยัง กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ให้แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี
ที่ผ่านมาในพื้นที่ได้จัดประชุมชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง เพื่อสอบถามแนวทางการแก้ปัญหาสันดอนทรายที่เกิดขึ้น โดยชาวบ้านเสนอให้เอาสันดอนทรายออกเพียงบางจุดที่สร้างความเดือดร้อนเท่านั้น เพราะมองว่าหากต้องขุดลอกสันดอนทรายทั้งหมดอีกครั้ง อาจได้รับผลกระทบเหมือนในช่วงที่มีการขุดลอกอ่าวปัตตานีเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ ผอ.สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ระบุว่า จะจัดประชุมร่วมกับชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาสันดอนทรายที่เกิดจากการขุดลอกอ่าวปัตตานี โดยรับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขตามที่ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีต้องการ