ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม "วันมาฆบูชา"

สังคม
25 ก.พ. 64
10:57
2,258
Logo Thai PBS
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม "วันมาฆบูชา"
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันมาฆบูชา 26 ก.พ.2564 ชวนชาวพุทธระลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

วันนี้ (25 ก.พ.2564) เฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่พระคติธรรม จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวันมาฆบูชา 26 ก.พ.2564 ความว่า

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันมีหลักการสำคัญเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ 1.การไม่ทำบาปทั้งปวง 2.การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม และ 3.การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน 3 เมื่อกว่า 2,600 ปีล่วงมาแล้ว อย่างไรก็ดี หากปีใดเป็นปีอธิกมาส วันมาฆบูชาจะตรงกับดิถีเพ็ญเดือน 4 ดังเช่นที่เกิดขึ้นปีนี้

สารัตถะประการหนึ่งในโอวาทปาติโมกข์นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนหลักการแห่ง ‘ขันติธรรม’ เพื่อเป็นหลักเผยแผ่พระศาสนา และการดำรงตนของพุทธบริษัท ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา’ แปลว่า ‘ขันติ เป็นเครื่องเผาผลาญบาปธรรมอย่างยิ่ง’

‘ขันติ’ หมายถึง ‘ความอดทนอดกลั้น’ มีลักษณะ คือความข่ม มีรส คือความอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ มีสภาพที่ปรากฏ คือความอดกลั้นหรือความไม่โกรธ มีพื้นฐานคือความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกต่างมีสัญชาตญาณรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และก็เป็นธรรมดาที่ทุกชีวิตจำต้องเผชิญความทุกข์โทมนัส สลับกับความสุขโสมนัส หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เสมอ จะหาบุคคลผู้มิต้องประสบกับ ‘โลกธรรม 8’ กล่าวคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ ในโลกนี้ เป็นอันมิมีเลย ผู้ตระหนักรู้ในความจริงเช่นนี้ จึงพึงสั่งสมบ่มเพาะกำลังแห่งขันติไว้สำหรับใช้ระงับยับยั้ง และต้านทานโลกธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่ามกลางวิกฤติการณ์ ซึ่งรุมเร้าเข้าสู่บ้านเมืองและโลกของเราทุกวันนี้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้รักษาร่างกายและจิตใจให้ยังคงความผาสุก สามารถอดทนอดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย ถ้อยคำจาบจ้วงล่วงเกิน คำติฉินนินทาว่าร้าย และความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ซึ่งหลงยึดถือไว้ว่าเป็นตัวเราของเราเสียได้ อย่างน้อยแม้จะเจ็บใจเพียงใด แต่ก็ไม่เผลอแสดงอาการหุนหันพลันแล่นออกมาทางกายหรือทางวาจาจนเสียกิริยาอาการอันดี

บุคคลผู้สามารถดำรงขันติธรรม คือความอดทนอดกลั้นไว้ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้เสงี่ยมงดงาม ถือธรรมะเป็นใหญ่ กิเลสตัณหาไม่อาจทำอันตราย เมื่อเป็นได้ดังนี้แล้ว ย่อมประสบความสงบร่มเย็น ระงับความดิ้นรนทะยานอยาก การที่สามารถดับเพลิงทุกข์เป็นคราว ๆ ได้ เสมือนว่าได้ถึงพระนิพพานเป็นคราว ๆ เป็นบทพิสูจน์ให้พุทธบริษัทรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระนิพพานมิใช่ธรรมะอันสุดเอื้อม แม้ว่าพระนิพพานจริง ๆ คือความดับเพลิงทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงอาจยังอยู่ไกล แต่พระนิพพานในปัจจุบันคือความดับกิเลสตัณหา ซึ่งบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจในขณะนี้ จึงอาจใช้ ‘ขันติธรรม’ คือความอดทนอดกลั้นนี้เอง เป็นเครื่องช่วยระงับดับได้ แม้เพียงคราวหนึ่ง ๆ ก็ยังดี ไม่เกินความสามารถที่ทุกคนจะปฏิบัติและเข้าถึงได้ เพื่อความสงบร่มเย็นซึ่งพึงบังเกิดมีขึ้นแก่ตนและแก่สังคมส่วนรวม สมความปรารถนาอันดีงามของคนไทย ที่ต่างหวังใจมุ่งหมายจะได้ประสบสันติสุขด้วยกันทุกคน

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง