ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศูนย์วิจัยทองชี้วัคซีนโควิดทำเศรษฐกิจฟื้นตัว กดดันราคาทอง

เศรษฐกิจ
16 ก.พ. 64
12:59
489
Logo Thai PBS
ศูนย์วิจัยทองชี้วัคซีนโควิดทำเศรษฐกิจฟื้นตัว กดดันราคาทอง
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีเชื่อมั่นราคาทองเดือน ก.พ.2564 ปรับลดลง หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่ผู้ค้ามองเป็นลบ

วันนี้ (16 ก.พ.2564) นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ก.พ.2564 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2564 จากระดับ 63.43 จุด มาอยู่ที่ระดับ 60.21 จุด ลดลง 3.22 จุด หรือคิดเป็น 5.07% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมาหลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทั่วโลก แรงขายทองคำจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น

สำรวจพบส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทอง

ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน ก.พ.2564 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 362 ตัวอย่าง พบว่า 44% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ขณะที่ 39% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้ และ 18% ยังไม่ซื้อทองคำในเดือน ก.พ.2564

สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ก.พ.2564 จะลดลง มีจำนวน 6 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 4 ราย ส่วนที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ม.ค.2564 มีจำนวน 3 ราย

ผู้ค้าทองรายใหญ่แนะระมัดระวังแรงขาย

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน ก.พ.2564 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,760 - 1,909 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 25,400 - 26,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 29.59 - 30.32 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนทองคำในเดือน ก.พ.2564 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่แนะนำ หากราคาทองคำสามารถทดสอบแนวต้านที่บริเวณ 1,896 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ คาดว่าในระยะกลางจะยังคงเป็นบวก โดยมีโอกาสปรับตัวไปทดสอบแนวต้านถัดไปที่บริเวณ 1,933 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนอยู่เหนือระดับแนวต้านดังกล่าวได้ นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายที่ออกมา โดยมีแนวรับสำคัญที่บริเวณ 1,765 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง