ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : อำพรางรถข้ามโขง

สังคม
13 ก.พ. 64
13:05
1,828
Logo Thai PBS
เปิดปม : อำพรางรถข้ามโขง
รถต้องสงสัย 15 คันที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดในพื้นที่จ.นครพนม-บึงกาฬ ตั้งแต่ ธ.ค.63 เป็นต้นมา ทำให้เห็นพฤติกรรมขบวนการลักลอบส่งรถไปประเทศเพื่อนบ้านชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการขนส่งสินค้าจากต้นทางถึงปลายทาง หรือ ประเภทรถยนต์ที่เป็นที่ต้องการในขณะนี้

ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ยึดรถยนต์ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบส่งรถข้ามโขงในพื้นที่ จ.บึงกาฬ และ จ.นครพนม 15 คัน ในจำนวนนี้มีทั้งตรวจยึดขณะจอดอยู่ในบ้านและสวนของชาวบ้าน ระหว่างขนส่งลงเรือริมแม่น้ำโขง และพบจมอยู่กลางแม่น้ำโขงต้องเก็บกู้ขึ้นมาตรวจสอบ

 

จากการเก็บข้อมูลจากเบาะแสต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่พบจากรถยนต์ต้องสงสัยทั้งหมด สามารถสรุปพฤติกรรมของกลุ่มขบวนการลักลอบส่งรถไปประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันได้ดังนี้

ที่มาของรถยนต์ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.รถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมา ซึ่งพบมากในอดีตแต่ปัจจุบันพบน้อย เนื่องจากรถที่ติดคดีมีโอกาสสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นระหว่างทางและเสี่ยงต่อการถูกจับกุม
2.รถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อนำมาจำนำ เช่น ผู้เช่าซื้อที่ไม่สามารถผ่อนรถยนต์ต่อได้ด้วยปัญหาทางการเงิน หรือผู้ที่ติดหนี้จากบ่อนพนัน รถลักษณะนี้ค่อนข้างขนส่งได้สะดวก เพราะไม่มีประวัติการถูกโจรกรรมมาก่อน เมื่อจำนำไประยะหนึ่ง ผู้เช่าซื้อจะแจ้งว่ารถหาย และไม่ผ่อนต่อปล่อยให้เป็นหนี้เสียต่อไป
3.รถยนต์ที่ผู้ซื้อจงใจดาวน์ออกมาเพื่อส่งขาย หลายปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตรวจพบรถยนต์ต้องสงสัยหลายคันยังเป็นรถป้ายแดง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมรับจ้างดาวน์รถยนต์ เพื่อนำไปส่งขายโดยเฉพาะ

เมื่อดูจากประเภทรถยนต์ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้ที่ผ่านมาพบว่า ประเภทรถที่พบมากที่สุดคือรถกระบะ 4 ประตู รองมาคือรถกระบะ 2 ประตู และรถอเนกประสงค์ ทำให้คาดการณ์ถึงความนิยมของลูกค้าของกลุ่มขบวนการได้ ว่าชื่นชอบรถยนต์ประเภทไหนเป็นพิเศษ



มีข้อมูลว่า การเคลื่อนย้ายรถยนต์จากต้นทางมายังปลายทางที่ จ.นครพนมและบึงกาฬ อาจมีการใช้ป้ายทะเบียนปลอม

จากการพูดคุยกับ พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ จันทร์ศรี ผกก.สภ.บ้านแพง จ.นครพนม พบว่า หลายครั้งเมื่อตำรวจตรวจสอบเลขทะเบียนของรถยนต์ที่ยึดมาได้กับระบบกล้องวงจรปิด กลับไม่พบภาพรถยนต์ต้องสงสัยถูกบันทึกไว้ระหว่างทางที่เดินทางมายังพื้นที่ปลายทาง

เราเช็คพวกกล้องไลเซนส์เพลทไม่เจอ ก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการเปลี่ยนทะเบียนก่อนวิ่งมาที่ภาคอีสานเพราะเวลาเราตรวจสอบจะตรวจจากทะเบียนรถที่เจอเพราะฉะนั้นถ้าผ่านตรงไหนภาพจะขึ้นหมด แต่นี่มันไม่มี ก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนทะเบียน เพราะผู้กระทำผิดก็ต้องหาทุกวิถีทางที่จะทำ

เมื่อรถยนต์มาถึงจังหวัดปลายทางหรือจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ตัวละครสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ “ผู้รับฝากรถยนต์”

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้มงวดกับการลักลอบส่งสินค้าเถื่อนข้ามชาติ และมีการจัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้กลุ่มขบวนการต้องรอจังหวะที่เจ้าหน้าที่เผลอจึงดำเนินการ

ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหาที่เก็บซ่อนรถยนต์ ไว้ใกล้กับจุดที่สามารถนำรถยนต์ข้ามแดนได้มากที่สุดเพื่อใช้เวลาขนส่งน้อยที่สุด แต่หากจอดรถไว้ที่บ้านตัวเอง อาจตกเป็นเป้าให้ถูกตรวจยึดได้ กลุ่มขบวนการจึงใช้วิธีนำรถยนต์ไปฝากจอดไว้ตามหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลแม่น้ำโขงแทน



หนึ่งในผู้ที่อ้างตัวว่า เคยรับฝากรถยนต์จากกลุ่มขบวนการมาก่อน ให้ข้อมูลว่า งานของเขาเริ่มจากผู้ประสานงานซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการติดต่อให้ไปรับรถยนต์เป้าหมาย โดยใช้รหัสลับว่า ไปรับ “น้องสาว” ในเวลาและสถานที่ที่ตกลงกัน โดยมากเป็นริมถนนหลวง ปั๊มน้ำมันหรือโรงแรม

เมื่อรถยนต์เป้าหมายมาถึงที่นัด เขาจะเปลี่ยนตัวกับคนที่ขับรถมาส่งและขับรถออกจากจุดนัดหมายทันที แต่หากเดินทางไปถึงจุดนัดหมายช้ากว่ากำหนด ผู้ที่ขับรถยนต์มาส่งจะซ่อนกุญแจรถไว้ที่ล้อหน้าด้านขวา

จากนั้น จึงนำรถไปจอดซ่อนในที่ปลอดภัย บางครั้งเป็นที่ดินของตัวเอง หรือนำไปฝากไว้ในบ้านของคนที่รู้จัก โดยให้ค่าตอบแทนครั้งละ 500 -1,000 บาท ที่สำคัญสถานที่ที่จอดแต่ละครั้ง จะต้องถูกเก็บเป็นความลับ ที่แม้แต่กลุ่มขบวนการด้วยกันก็ไม่อาจให้รู้ได้

 

รถยนต์จะถูกฝากไว้ 2-3 วัน ก่อนที่ผู้ประสานงานคนเดิมจะโทรศัพท์มาแจ้งให้นำ “น้องสาว” ไปส่งยังสถานที่และเวลาที่นัดหมาย โดยเมื่อไปถึงที่นัดหมาย เขาจะนำกุญแจรถซ่อนไว้ที่ล้อหน้าด้านขวา และออกจากจุดนั้นทันที โดยไม่มีโอกาสได้เห็นใบหน้าของผู้ที่มารับรถอีกทอดหนึ่ง ถือว่าหมดหน้าที่ของเขาในการรับฝากรถยนต์

เขาจะได้รับเงินค่าจ้างก็ต่อเมื่อรถยนต์ถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สำเร็จ โดยต้องเดินทางไปรับเงินสดด้วยตัวเอง ไม่มีการโอนผ่านธนาคารอย่างเด็ดขาด ค่าจ้างที่ได้รับจะอยู่ที่คันละ 5,000 บาท

ผู้ที่มารับรถต่อ มีหน้าที่ขับรถลงเรือ เพื่อส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน เรียกในวงการว่า “นักบิน” ซึ่งต้องมีความชำนาญในการขับรถจากฝั่งลงไปตามทางลาดริมแม่น้ำโขง รวมถึงบันไดตามเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อลงไปจอดบนเรือ 2 ลำที่มีไม้ 4 แผ่นพาดต่อขนานเป็นแพ

ที่สำคัญ คือ ต้องทำทั้งหมดที่เล่ามาในความมืด เพราะไฟหน้าและไฟท้ายของรถทุกคันถูกปิดด้วยสติกเกอร์สีดำป้องกันไม่ให้แสงไฟเล็ดลอด ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นได้ง่าย

 

น.ท.วิระวุฒิ บุญจันทร์ ร.น. หัวหน้าสถานีเรือบ้านแพง เขตนครพนม เจ้าหน้าที่ซึ่งเคยเข้าจับกุมกลุ่มขบวนการ ขณะกำลังส่งรถไปประเทศเพื่อนบ้านให้ข้อมูลว่า ระหว่างปฏิบัติงานหากมีเจ้าหน้าที่มาพบ คนงานทุกคนจะทิ้งสินค้าหนีลงแม่น้ำโขง โดยจะมีเรืออีกลำหนึ่งเตรียมพร้อมรับคนขึ้นมาจากน้ำพาหนีกลับไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ในการแสดงตัวเข้าจับกุมเราก็มีการยิงขู่ เขาก็กระโดดลงน้ำหนี แล้วก็มีเรือที่ประเทศลาว เหมือนเตรียมการไว้แล้ว เพื่อจะรับคนกลับฝั่งลาวไป

จะเห็นได้ว่า การลักลอบส่งรถไปประเทศเพื่อนบ้านแต่ละครั้ง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีทั้งผู้ที่อยู่ในกลุ่มขบวนการและประชาชนทั่วไป จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คนเหล่านี้ถือเป็นฟันเฟืองที่ทำให้กลุ่มขบวนการสามารถลักลอบทำสิ่งผิดกฎหมายได้สำเร็จ

ข้อมูลจากกองกำลังสุรศักดิ์มนตรีระบุว่า หากรถยนต์ที่ชาวบ้านรับฝากเป็นรถยนต์ที่มาจากการโจรกรรมหรือเป็นรถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อยักยอกมาจำนำโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้รับฝากอาจเข้าข่ายรับของโจร และหากตรวจสอบพบว่ารถยนต์ที่รับฝากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบส่งไปขายต่างแดนอาจเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำความผิด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง