วันนี้ (12 ก.พ.2564) ในงานปาฐกถา บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังต้องเผชิญโควิด-19 ต่อเนื่อง แต่ยังมีความหวังจากการผลิตวัคซีน จึงหวังให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
ระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่การแจกเงินเยียวยา ไม่สามารถทำได้ตลอดไป
รัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้มาตรการเยียวยา มีส่วนช่วยให้ประชาชน เข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล ตั้งแต่โครงการ เราไม่ทิ้งกัน, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, เราชนะ และเรารักกัน ส่วนผู้ที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน จะเปิดลงทะเบียนวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะเป็นฐานข้อมูลให้รัฐบาลต่อไป
รมว.คลังกล่าวต่อว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังวิกฤตโควิด-19 กำลังเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง กำลังเร่งศึกษาแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี ระยะที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นการผลักดันให้เศรษฐกิจไทย สู่ BCG
สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศ ที่จะใช้เครื่องมือภาษี เปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน เช่น การจูงใจลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ลดพฤติกรรมการใช้เชื้อเพลิงแบบเก่า เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศ มีภูมิคุ้มกันและพร้อมรับสังคมสูงอายุ
ขณะเดียวกัน ตลาดทุนจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินออม แต่ขอให้ ก.ล.ต ให้ความสำคัญกับการเข้าลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หลังพบว่า ช่วงโควิดมีคนรุ่นใหม่ เข้าลงทุนในตลาดนี้จำนวนมาก
นอกจากนี้ นายอาคมยังกล่าวชื่นชมนโยบายการจัดสรรหุ้น บริษัท ปตท.ค้าปลีกและน้ำมัน หรือ OR ซึ่งกระจายรายย่อยถึงร้อยละ 23 ของหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด
หลังสังเกต เห็นผู้ร่วมสัมมนา ก้มมองโทรศัพท์ ในช่วงเวลาใกล้เปิดตลาดซื้อขาย “ตอนนี้ ทุกคนกำลังก้มๆ เงยๆ ใจจดใจจ่ออยู่กับมือถือ ลุ้นโออาร์กันอยู่ใช่ไหม”
ส่วนความคืบหน้าการออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 รายงานจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ พ.ร.ก.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้ว
โดยใช้วงเงินดำเนินโครงการกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกัน 9 ล้านคนพร้อมเสนอ ครม.วันจันทร์หน้า (15 ก.พ.) เพื่อพิจารณาโยกเงินกู้จากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาอยู่ในแผนเยียวยาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดังกล่าว