วันนี้ (4 ก.พ.2564) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มก้าวหน้า พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เดินทางมาที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อให้การขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลสั่งลบลิงก์ตามคำขอ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) กรณีการเผยแพร่ภาพ-คลิปเกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 พาดพิงสถาบัน ผ่านเพจคณะก้าวหน้า
นายธนาธร ยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยืนยันว่าว่าการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองล้วนเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศ สถาบันฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ดังนั้นการพูดถึงสถาบันฯ โดยสุจริต ไม่ว่าร้ายพยาบาท เพื่อหวังดีต่อสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงกระทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขอบเขตความผิดตาม ม.112 ในไทย มีความต่างจากประเทศที่ปกครองด้วยราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญอย่างไร นายธนาธร กล่าวว่า ใน ม.112 เป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะสิทธิสิทธิมนุษยชนนั้นคือการมีเสรีภาพทางการแสดงออก และม.112 มีโทษที่สูงเกินไปด้วย จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย ม.112
มีการตั้งคำถามจากประชาชนที่ต้องการเห็นการจัดหาวัคซีนให้กับคนไทยได้อย่างเร็วที่สุด ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องกลยุทธ์การจัดซื้อหาวัคซีน และการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยเป็นสิ่งที่พึงกระทำ
เทียบวัคซีนไทยยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด
นอกจากนี้ นายธนาธร กล่าวอีกว่า อยากเห็นรัฐบาลให้คำสัญญาที่ชัดเจนว่าจะฉีดวัคซีนให้กับคนไทยจำนวนเท่าไหร่ ระยะเวลา เพราะเป็นความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ คนที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่มีประกันสังคม หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว
เป็นกังวลเรื่องนี้ การมีวัคซีนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ตราบใดที่ยังไม่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในสังคม ก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2564 นายธนาธร แถลงข่าวกรณีถูกรัฐบาลแจ้งความในข้อหาตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมฯ ปมไลฟ์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ระบุว่า ขอยืนยันกับสังคมว่าพวกเราสนับสนุนการเจรจาต่อรองเพื่อให้มีวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ครอบคลุมประชากรและได้ฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง