วันนี้ (15 ธ.ค.2563) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวสถานการณ์และแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อวาน (14 ธ.ค.) กทม.มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 60 มคก.ต่อ ลบ.ม. ขณะที่วันนี้มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 74.6 มคก.ต่อ ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ออกแผนรับมือฝุ่น PM 2.5 มาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 12 มาตรการ เช่น การกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้ทำกิจกรรมที่เกิดฝุ่นมาก งดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียนอย่างการเข้าแถวหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจทำให้นักเรียนได้รับอันตราย รวมถึงการกวดขันห้ามเผาในที่โล่ง การล้างถนน ฉีดละอองน้ำจากตึกสูง และเปิดคลิกนิกมลพิษ
เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เพิ่มระดับมากขึ้นและคาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีก 2-3 วัน ทำให้วันนี้ กทม.ได้ยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาเป็นระดับที่ 2 โดยเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหกมายเผาในที่โล่ง มีการออกหน่วยสาธารณสุขไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมาก เช่น ดินแดง
วันนี้ กทม.ได้ยกระดับมาตรการ ประสานผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นมาก สำหรับการตกแต่งภายใน ทาสี ยังดำเนินการต่อได้ แต่การขนดิน ถมที่ การขุด เจาะ โครงการขนาดใหญ่ จะขอให้งดกิจกรรมในช่วง 2-3 วันนี้ก่อน
นอกจากนี้ กทม.ได้ให้ผู้อำนวยการเขตและผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาปิดโรงเรียนในกรณีที่มีความเสี่ยงอันตรายจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก และไม่พร้อมจัดห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศ ยืนยัน กทม.พร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นมาตลอดช่วงเดือน ธ.ค. - ก.พ. โดยได้เตรียมการล่วงหน้ามาแล้วกว่า 3 เดือน
ทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงฝุ่น-ดูแลใกล้ชิด
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการรับมือและเตรียมความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ โดยจัดฐานข้อมูลของผู้ที่มีผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และโรคเส้นเลือดในสมอง รวมทั้ง 3 หมอดูแล คือ หมอสาธารณสุข หมออนามัย หมอครอบครัว ที่จะคอยดูแลประชาชนและป้องกันผลกระทบของฝุ่น
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า จะช่วยลดผลกระทบได้ แต่หากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น ขอให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น หากมีอาการทางเดินหายใจ หรือแสบร้อน สามารถปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง
ลดกิจกรรมนอกห้องเรียน
นพ.ดนัย ธีวันดา ยังระบุอีกว่า เบื้องต้นข้อมูลทางวิชาการ พบว่าช่วงเวลาในการเข้าแถวก่อนเข้าชั้นเรียน อาจใช้เวลาไม่นาน แต่ขอความร่วมมือครูให้จัดกิจกรรมร้องเพลงชาติ สวดมนต์ และทำกิจกรรมเล็กน้อย 10-15 นาที จากนั้นให้เข้าห้องเรียนที่ต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 และขอให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ด้วย
ส่วนพ่อค้า แม่ค้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน หรืออยู่บนท้องถนน ส่วนหน้ากากผ้าช่วยลดผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่นพุ่ง! ศกพ.ประสานต้นสังกัด ร.ร.ใน กทม.งดกิจกรรมกลางแจ้ง
69 เขต กทม.-ปริมณฑลฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง หนักสุด "ดินแดง"
ผลศึกษาชี้ "หยุดก่อสร้าง-เหลื่อมเวลางาน" ลดฝุ่นพิษ กทม.