ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน! สังเกตก่อนซื้อ "หมึกบลูริงพิษร้าย" ย่างเสียบไม้

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ย. 63
12:03
10,702
Logo Thai PBS
เตือน! สังเกตก่อนซื้อ "หมึกบลูริงพิษร้าย" ย่างเสียบไม้
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตือนประชาชนสังเกตก่อนซื้อหมึกย่าง หลังพบหมึกบลูริงเสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัด จ.ปทุมธานี ระบุ เป็นหมึกมีพิษอันตราย ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส แม้ย่างสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้

วันนี้ (30 พ.ย.2563) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย สถาบันวิจัย ทช. เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากจันทรา​ พุ่มแจ่ม​ ว่าพบหมึกบลูริง เสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัดตอนเย็น พื้นที่ จ.ปทุมธานี แม้ว่าหมึกย่างจะอร่อยมากก็จริง ยิ่งเจอน้ำจิ้มรสเด็ดยิ่งแจ่ม แต่ให้สังเกตเพิ่มกันหน่อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าคัดแยกให้ดีก่อนเอามาปรุงอาหารขาย ลูกค้าก็เช่นกันก่อนบริโภคสังเกตลายสักนิด

ถ้าพบหมึกมีลายเป็นวงๆ สีน้ำเงินทั่วตัวจนไปถึงเส้นหมวด ให้หลีกเลี่ยงด่วน อันตรายมากเพราะพิษของหมึกชนิดนี้ แม้ปรุงสุกก็ไม่สลาย ยังมีอันตราย พิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้น แม้ย่างสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ขณะที่ก่อนหน้านี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับหมึกสายวงน้ำเงินไว้ว่า เป็นหมึกที่ไม่นิยมนํามารับประทาน ส่วนต่อมพิษของหมึกชนิดนี้จะอยู่ที่ปาก ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นเกิดจากการถูกกัดเท่านั้น โดยพิษของหมึกชนิดนี้จะไม่สลายเมื่อถูกความร้อน หากนําไปปรุงอาหารจนสุก แล้วรับประทานเข้าไป ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เช่นกัน แนะนำหากประชาชนพบเห็น ไม่ควรซื้อมาปรุงเป็นอาหารรับประทานเด็ดขาด

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย ระบุอีกว่า พิษของหมึกสายวงน้ำเงิน เรียกว่า Tetrodotoxin (TTX) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมอง คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน ทําให้ไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต โดยขอให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง