วันนี้ (27 พ.ย.2563) เวลา 12.00 น. กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงคุณภาพดี ตรวจวัดค่า PM 2.5 ได้ระหว่าง 8-29 มคก./ลบ.ม
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ณ เวลา 12.00 น....
โพสต์โดย ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2020
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังอยู่ในระดับดี แต่ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรุงเทพมหานคร พบว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม.วิกฤตที่สุดในช่วงเดือน ธ.ค. – ก.พ. โดย ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 62 - 29 ก.พ.63 พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานถึง 84 วัน เขตบางเขน เกินมาตรฐานมากสุด 46 วัน รองลงมาคือเขตหลักสี่ 43 วัน และเขตบางคอแหลม 42 วัน
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่า ที่ผ่านมา กทม.ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดฝุ่นในช่วงวิกฤตทั้งการเหลื่อมเวลาทำงาน ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าลดลงจาก 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 38 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนช่วงเย็นลดค่าเฉลี่ยฝุ่นได้จาก 66 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็น 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ กทม.ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการอาคารสูงและรถไฟฟ้าหยุดการก่อสร้างเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 4 - 6ก.พ.63 เมื่อวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ใน 37 เขต พบค่าเฉลี่ยฝุ่นลดลงเหลือ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จาก 63 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลง 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 41.27
เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าช่วงวิกฤตฝุ่นใน กทม. อยู่ในเดือน ธ.ค. – ก.พ. เทียบปี 61 กับ 62 เรามองว่า สภาพจราจร มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเยอะ และปัญหามลพิษจากการสะสมตัวรถ และการก่อสร้าง ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น ในปีนี้สภาพของการก่อสร้างรถไฟฟ้ามีการคืนพื้นที่เยอะแล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ผลการศึกษาภาพรวมมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 ในช่วงวิกฤต สะท้อนต้นเหตุมลพิษใน กทม. เกิดจากปัญหาจราจรและก่อสร้างเป็นหลัก ในปีนี้ กทม.ยังคงมาตรการที่ใช้ได้ผลจริง ร่วมกับมาตรการอื่นๆ โดยจะมีการปรับมาตรการบังคับใช้ตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละช่วงต่อไป