วันนี้ (22 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ ครม.มีมติให้ปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 เกี่ยวกับการทำแท้ง ที่เดิมห้ามทำแท้งเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ล่าสุดมีการปรับแก้ในมาตรา 301 โดยมีสาระสำคัญคือ อนุญาตให้มีการทำแท้งเมื่ออายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์ โดยอ้างความเห็นจากสูตินารีแพทย์ แพทยสภา พร้อมกับปรับลดบทกำหนดโทษ และแก้ไขมาตรา 305 เพื่อให้สถานพยาบาลที่ทำแท้งให้กับหญิงที่มีครรภ์กลุ่มนี้ไม่มีความผิด
ด้านนางนิศารัตน์ จงวิสาล ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ไม่พร้อม กลุ่มนำทาง ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายอาจจะไม่ตรงจุด เพราะสุดท้ายผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะไม่กล้าตรวจครรภ์และไม่ได้แก้ปัญหาการทำแท้งเถื่อน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การอ้างเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งรัด โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้ทำแท้งนั้นฟังไม่ขึ้น
ตั้งข้อสังเกตเร่งรัดแก้ กม.ไม่แก้ต้นตอปัญหา
ขณะที่นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า แต่ละปีมีผู้หญิงตั้งครรภ์มาปรึกษาทำแท้ง 2-3 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน แสดงให้เห็นว่าการทำแท้ง ไม่ได้มาจากปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเท่านั้น แต่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งบริบทด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ข้อสังเกตของ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สอดคล้องกับข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่พบว่าอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี (คุณแม่วัยใส) ที่รวบรวมถึงปัจจุบัน เทียบกับปี 2558 ลดลงเหลือ 23 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยและครอบครัวมีรายได้น้อย
ขณะที่การตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 มีผู้ป่วยทำแท้งตอบแบบสอบถามกว่า 1,900 คน ส่วนใหญ่ 60.2% มาจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ซึ่งกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี รองลงมา 39.8% เป็นผู้ทำแท้งจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ในวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้นไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้ง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะถูกส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 ก.พ.2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.ไฟเขียว กม."ทำแท้ง" อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์