วันนี้ (4 พ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2563 และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ช่วงวิกฤติ ที่อาคารทส. พร้อมทั้งตั้งทีมโฆษกทำหน้าที่สื่อสารฝุ่น 3 คน โดยมีหน้าที่เทียบกับการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ของศบค.
สำหรับการตั้งเป้าลดปัญหาฝุ่นให้การลดปัญหาร้อยละ 20 ในกทม.อาจจะนับจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน ส่วนภาคเหนือจะวัดจากจุดความร้อนที่ลดลง
ส่วนที่ว่ามีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทางทส.เป็นหน่วยงานปลายทาง และมีอำนาจในบทบาทที่ตัวเองมีอยู่เท่านั้นไปบังคับใครไม่ได้ หลังจากนี้จะนำแผนเชิงรุกของทส.ไปพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเหล่านี้

กระทรวงเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ทส.ไม่ใช่การโยนภาระงาน เพราะถ้ามีแผนแล้วไม่ปฏิบัติตาม และฝุ่นยังวิกฤต ต้องถามกลับไปว่าทำไมถึงไม่ทำ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจริงก็คงต้องใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีว่าติดขัดปัญหาอะไร
ตั้งเป้าจุดความร้อนลดลงร้อยละ 20
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนปัญหาปีที่ผ่านมามี 3 แนวทางหลักที่จะแก้ปัญหาเชิงรุก คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางแหล่งกำเนิด และใช้เทคโนโลยีการศึกษาวิจัย คณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ภายใต้บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ควบคู่กับการผลักดันใช้แผนเฉพาะกิจ 12 มาตรการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือ ครอบคลุมทั้งด้านการสื่อสารสร้างการรับรู้ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครฯ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนเรื่องการพยากรณ์ฝุ่นละออง การประเมินปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ และการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับ อปท.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเปิดตัวการใช้แอปพลิเคชัน "Burn Check" เพื่อลงทะเบียนชิงเผา และบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยการให้เกษตรกรลงทะเบียนกระจายการเผาไม่ให้กระจุกตัว จนเกิดมลพิษหมอกควันขึ้นกระทบสุขภาพประชาชน เพราะไม่อยากให้เกิดการเผาพร้อมๆ กันทั้งในเขตป่าและนอกเขตป่า เมื่อไม่สามารถปฏิเสธการเผาได้จำเป็นต้องบริหารจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ โดยในเดือนพ.ย.นี้จะขอให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯเข้าช่วยกำจัดเชื้อเพลิงในเขตป่าร่วมกับชุมชนเสี่ยงทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ

คาดหวังว่ามาตรการเชิงรุกนี้ จะส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–31 พ.ค.2564 ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 20
สำหรับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาด้านมลพิษเพื่อให้ประชาชนรับรู้ จะมีสำนักนายกรัฐมนตรีจะช่วยผลักดันสร้างการรับรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ และประชาชนให้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์จะช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ต่างๆด้วย โดยเฉพาะการแจ้งเตือน SMS ให้กับประชาชนทันทีที่ระดับฝุ่นเกินมาตรฐาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บอร์ดสิ่งแวดล้อม เคาะ 12 มาตรการแก้ PM 2.5 จ่อชง ครม.