ปมความขัดแย้งเก้งเผือกพระราชทานหายจากกรงจัดแสดงสัตว์ภายในสวนสัตว์สงขลา นำไปสู่โศกนาฏกรรมนายภูวดล สุวรรณะ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์สงขลา ยิงนายสุริยา แสงพงค์ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เสียชีวิต ก่อนยิงตัวเสียชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดมค้นหาเก้งเผือกที่หายไปจากกรงจัดแสดง แต่กลับไร้ร่องรอย กระทั่งเดือน เม.ย.กลับพบซากสัตว์เหลือเพียงกระดูก ถูกใบไม้ทับถมอยู่ในส่วนจัดแสดงเก้งเผือก ขณะที่เก้งเผือกตัวที่ 2 ก็ได้หายไปจากกรงจัดแสดงในช่วงเดือน ก.ย.เช่นกัน แต่มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายยืนยันว่าถูกงูเหลือมกิน
ทางเจ้าหน้าที่จึงประสานศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นกระดูกเก้งเผือกที่หายไปหรือไม่ แม้ผลที่ออกมาจะเป็นกระดูกเก้งจริง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นเก้งเผือกตัวที่หายไปหรือไม่ ปริศนาที่ยังค้างอยู่อีกประการคือ เก้งตัวนี้ตายได้อย่างไร
ไทยพีบีเอสออนไลน์สอบถาม นายสัตวแพทย์ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านงู ถึงความเป็นไปได้ที่เก้งตัวแรกจะถูกงูเหลือมกิน โดยนายสัตวแพทย์ทวีศักดิ์ ระบุว่า งูเหลือมเป็นสัตว์ที่กินไม่เลือก โดยเฉพาะงูเหลือมที่มีขนาดตัวใหญ่มากพอ เมื่อพบเหยื่อที่อ่อนแอ อยู่ใกล้ เคลื่อนไหวช้าก็พร้อมเข้าจู่โจมทันที
งูเหลือมจะกินเหยื่อเข้าไปทั้งตัว ไม่หลงเหลือเศษกระดูกหรืออะไรทิ้งไว้ ก่อนจะเลื้อยหนีไปจากพื้นที่นั้นทันที แต่อาจจะเคลื่อนที่ได้ช้า และจะใช้เวลาย่อยเหยื่อ 7-15 วัน โดยขับถ่ายออกมาหลังย่อยสมบูรณ์ เหลือเพียงยูริกสีขาวข้น และขนหรือหนังบางส่วนเท่านั้น ไม่มีกระดูกเด็ดขาด
นายสัตวแพทย์ทวีศักดิ์ ระบุอีกว่า หากมองจากภาพถ่ายของสวนสัตว์สงขลา จะเห็นว่าซากสัตว์เหลือเพียงกระดูกนั้น มีความเป็นไปได้อีกกรณีคือ งูเหลือมเลื้อยเข้ามาในกรงเก้งแล้วกินเก้งเข้าไป เมื่อจะเลื้อยหนีออกจากพื้นที่กลับเลื้อยผ่านกรงไม่ได้ จึงทำให้ต้องสำรอกออกมา โดยที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์
หากจะเหลือกระดูกแบบมีโครงเล็กน้อยแบบในภาพ ต้องใช้เวลาก่อน 7 วัน เนื่องจากงูเหลือมจะย่อยกล้ามเนื้อก่อนแล้วตามด้วยกระดูก จึงอาจเป็นไปได้ว่ายังย่อยไม่สมบูรณ์แต่ต้องการจะออกจากกรงจึงเลือกสำรอกเก้งออกมา
ทั้งนี้ จากข้อมูลนายสัตวแพทย์ทวีศักดิ์ ที่ประเมินจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว จึงยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายของเก้งได้ แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า เก้งตัวแรกอาจถูกงูเหลือมกินได้จริง แต่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ควรพบกองกระดูกที่อยู่ในกรงเก้งได้ตั้งแต่ช่วง 7 วันแรก ไม่ใช่ผ่านไปนานถึง 2 เดือนอย่างที่เกิดขึ้นหรือไม่ ปริศนาการตายในครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากสวนสัตว์สงขลา ยอมนำเลือดของเก้งพ่อแม่พันธุ์ ส่งให้ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เพื่อตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ความสัมพันธ์ของเก้งเผือกครอบครัวนี้ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี สงสัยงูชอบกินเก้งเผือก ?
ตั้งกรรมการสอบ "ลูกเก้งเผือก" หายจากสวนสัตว์สงขลา
เปิดผลตรวจกระดูกปริศนาจากสวนสัตว์สงขลา เป็น "เก้ง"
พบ 21 ปม ร้องผู้บริหารฯ โยงคดี "สวนสัตว์สงขลา"
ไขกุญแจ! “เก้งเผือก” พิสูจน์สายพันธุ์ต้องตรวจพ่อแม่