ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งช่วยประมงใต้ถูก IUU บีบ หนีจดทะเบียนมาเลย์ กระทบธุรกิจไทย

เศรษฐกิจ
24 ก.ย. 63
14:39
710
Logo Thai PBS
เร่งช่วยประมงใต้ถูก IUU บีบ หนีจดทะเบียนมาเลย์ กระทบธุรกิจไทย
กมธ.แก้ปัญหาความยากจนฯ ของวุฒิ เตรียมเสนอรัฐบาล เจรจา EU ขอทบทวนข้อตกลงประมง IUU เหตุทำประมงไทยเจ๊ง

วันนี้ (24 ก.ย.2563) นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมลํ้า วุฒิสภา เปิดเผยว่า จากการเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ปัญหาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำรงชีวิต ขาดการสร้างรายได้ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

สำหรับแนวทางในการสร้างรายได้ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่ดี ในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก และอาหารทะเล ในช่วงวิกฤติโลก ที่เกิดการขาดแคลนอาหาร จากสถานการณ์ COVID-19 แต่เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่กลับพบว่า จังหวัดชายแดนใต้ เกิดปัญหาอุตสาหกรรมประมงซบเซา ไม่มีเรือทำประมงพาณิชย์

นับตั้งแต่รัฐบาลไทยได้เจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing ) มีการกำหนดมาตรฐานที่สูงมาก จนเกินกว่าที่ผู้ประกอบการประมงของไทยจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องและทันต่อสถานการณ์ได้

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายสังศิตระบุว่า เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ของไทย ที่มีประมาณ 700 ลำ เป็นเรือจาก จ.ปัตตานี ที่เคยเป็นแหล่งประมงสำคัญ มากถึง 180 ลำ ไปจดทะเบียนกับประเทศมาเลเซีย เพราะระเบียบของทางราชการที่นั่น เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจมากกว่าของไทย

ซึ่งเรือดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมประมงของมาเลเซียเฟื่องฟู มีรายได้จากการจ้างงานมหาศาล ในขณะที่เรือประมงไทยที่ไปจดทะเบียนไม่สามารถนำกลับประเทศหรือเข้ามาส่งซ่อม ได้เลย

ผมสงสัยว่าทำไมเรือประมงพาณิชย์ของไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องไปขึ้นทะเบียนกับประเทศมาเลเซีย หมายความว่า ถ้าเป็นเรือของมาเลเซียสามารถประกอบการได้ แต่ถ้าเป็นเรือประมงไทย กลับไม่สามารถทำธุรกิจได้
ทำไม EU กำหนดมาตรฐานสูงสุดกับไทย ทั้งๆ ที่โดยหลักการแล้วการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ ทุกประเทศจะได้รับการปฏิบัติบนหลักเกณฑ์เดียวกัน และเสมอภาคกัน

นายสังศิตยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “สิ่งที่ผมยังไม่เข้าใจก็คือ ทำไมชาติอาเซียนอื่นๆ ยังสามารถทำธุรกิจประมงพาณิชย์ได้ ประเทศอื่นๆ ได้รับสิทธิพิเศษอะไรหรือไม่ หรือเป็นเพราะความสามารถของทีมเจรจาของประเทศนั้นๆ”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว นายสังศิตระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มาให้ข้อมูล เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อเตรียมเสนอวุฒิสภาและรัฐบาลต่อไป

โดยแนวทางเบื้องต้นที่เตรียมนำเสนอ เช่น ให้มีการย้ายทะเบียนเรือประมงพาณิชย์เหล่านั้นกลับมาประเทศไทย นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรเจรจาและทบทวนการทำข้อตกลงกับ EU เกี่ยวกับการปฎิบัติตามมาตรฐาน IUU รวมถึงปรับปรุงกฎหมายประมงของไทยให้สอดคล้องสถานการณ์อุตสาหกรรมประมงของโลกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง