ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วิชา" ชี้เป็น "ทฤษฎีสมคบคิด" ช่วย "บอส-วรยุทธ" หลุดคดี

อาชญากรรม
1 ก.ย. 63
13:28
2,476
Logo Thai PBS
"วิชา" ชี้เป็น "ทฤษฎีสมคบคิด" ช่วย "บอส-วรยุทธ" หลุดคดี
"วิชา" เผยผลสอบคดี "บอส" พบ เจ้าหน้าที่รัฐ-ทนาย-อัยการ ร่วมทำสำนวนเสียหายแต่ต้น เป็นการ "สมยอมไม่สุจริต" ตามทฤษฎีสมคบคิด พร้อมเสนอแก้กฎหมายกรณีผู้ต้องหาหนีคดีไม่นับอายุความ ชงเอาผิดด้านจริยธรรมบุคคลที่มีตำแหน่งสูงเอี่ยวคดี

วันนี้ (1 ก.ย.2563) ศ.วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา แถลงข่าวสรุปผลการตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ได้มาในชั้นต้นไม่ครบถ้วน บางเรื่องนายกฯ จึงกังวลว่า หากเผยแพร่ออกไปจะกระทบกับคดี แต่ตอนนี้รายงานที่ได้นำเสนอนายกฯ ยืนยันว่าครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งในเอกสารที่จะมอบให้กับสื่อมวลชนจะเป็นการใช้ อักษรย่อ และตำแหน่งของบุคคล เนื่องจากเป็นการทำรายงานตามระบบของ ป.ป.ช.

การทำสำนวนมีความบกพร่อง โดยเฉพาะการตั้งข้อหาให้กับผู้เสียชีวิต ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่ถูกกฎหมาย เพราะไม่มีโอกาสสู้คดี แม้ครอบครัวจะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่รูปคดีเสียหายอย่างหนัก สรุปแล้วพนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งรูปคดีอย่างมืออาชีพ และไม่จริงใจในการทำสำนวนคดี เพราะบางข้อกล่าวหาไม่มีในสำนวน แม้จะมีการสอบสวนไว้ก่อนที่จะสั่งฟ้อง เช่น เรื่องเมาแล้วขับ

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือสอบสวนซึ่งใช้เวลา 6 เดือน ถือว่ายาวนานมาก แต่กลับไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดส่งฟ้องต่อศาล ตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการหลายคนได้ต่อสู้ยืนหยัดต่อเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง แม้จะถูกกดดัน เพราะฉะนั้นกรณีนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่องค์กร

รวมถึงการตรวจพบช่องโหว่ในการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งมีการร้องขอความเป็นธรรมถึง 13 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งประสบความสำเร็จในครั้งที่ 14 ทั้งนี้พบความผิดปกติมากที่สุดในการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งที่ 8 มีการทำสำนวน "สมยอมไม่สุจริต" ในการสอบสวน รวมถึงระบุวันที่เป็นเท็จและกลับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญด้วย

พบการหยิบยกพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ และร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ทนายความ มีอัยการคนหนึ่งอยู่ในนี้ด้วย

คณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่าเป็นการทำสำนวนอันเป็นการ "สมยอมไม่สุจริต" ร่วมมือกันกันตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้สำนวนเสียหายตั้งแต่ต้น จึงเห็นว่าควรให้มีการสอบสวนใหม่ โดยเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่คดีนี้บางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้แก้ไข "การให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนี" เช่นเดียวกับการพิจารณาคดีทุจริต ทั้งนี้อายุความจะเริ่มกลับมานับต่อเมื่อได้ตัวผู้กระทำผิดมาแล้ว ประเด็นนี้จึงเป็นข้อเสนอหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการสำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง ซึ่งสามารถดำเนินการด้านจริยธรรมเพื่อให้พ้นจากตำแหน่งได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง