ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : ช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

สังคม
31 ส.ค. 63
19:00
760
Logo Thai PBS
THE EXIT : ช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ
THE EXIT พูดคุยประสบการณ์ 3 คนไทยในต่างแดนที่เคยป่วย COVID-19 และต้องรักษาตัวเองจนหายป่วยที่บ้าน เนื่องจากการระบาดอย่างรุนแรงโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ พวกเธอคิดถึงครอบครัวในเมืองไทยอยากมีญาติพี่น้องดูแลในยามเจ็บป่วย

ประภาพร คัมภิรานนท์ วัย 40 ปี ครูสอนโยคะ อาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มา 16 ปี เธอเป็นคนสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว แต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เธอติดเชื้อ COVID-19 และต้องรักษาตัวที่บ้านถึง 6 สัปดาห์ เพราะเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อทุกคน

ประภาพร เล่าว่า 1-3 วันแรกเธอมีอาการคั่นเนื้อคั่นตัว ปวดตัว ไม่มีแรงเป็นไข้ แต่ก็คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา เพราะวันที่ 4 อาการหายเป็นปลิดทิ้ง ต่อมาวันที่ 6 มีอาการคลื่นไส้ วันที่ 7 นอนซมทั้งวัน ไม่มีแรง และมีไข้สูงเกือบ 39 องศาเซลเซียส

พอวันที่ 6 เริ่มรู้สึกคลื่นไส้ ตอนกลางคืนปวดหัวมาก และนอนพัก พอวันที่ 7 เริ่มปวดตามเนื้อตามตัว นอนซมทั้งวัน ไข้ขึ้นสูง 39 องศาเซลเซียส

 

แต่ช่วงเวลานั้น จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความยากลำบากในการตรวจหาเชื้อจึงเกิดขึ้น ชุดตรวจขาดแคลน เธอจึงโทรหาสายด่วนโคโรนาไวรัส เพื่อขอตรวจแบบไดรฟ์ทรู แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตรวจเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ปะทุอย่างรวดเร็ว ทางการต้องเลือกตรวจและจัดลำดับตามอาการของผู้ป่วย

การพบแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล จึงเป็นทางเลือกของเธอ แต่ก็ไม่ได้ง่ายนักเพราะต้องนัดหมายล่วงหน้า อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เธอได้ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ไป 4 ครั้ง และเมื่อมีอาการหายใจลำบาก เจ็บปอด จึงไปเอ็กซ์เรย์ที่คลินิกแห่งหนึ่ง และพบว่าปอดด้านขวาติดเชื้อ

อาการที่เกิดขึ้น คิดว่าอยู่บ้านและคุยกับหมออย่างเดียว ไม่ช่วยอะไร เพราะหายใจติดขัด ทานก็เหนื่อย พูด เดินก็เหนื่อย นอนไม่ได้ แย่มากๆ สรุปไปเอ็กซเรย์ปอด เป็นปอดบวม ปอดขวาด้านล่างติดเชื้อ

 

เธอต้องรักษาตัวเองที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลทุกแห่งมีปัญหาคนไข้ล้น เครื่องมือแพทย์และบุคลากรขาดแคลน เท่ากับว่าผู้ป่วยที่จะได้รักษาในโรงพยาบาลต้องอาการโคมาหรือใกล้เสียชีวิตเท่านั้น

ประภาพรบอกว่า รักษาตามอาการ ใช้ยาลดไข้ ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการปอดอักเสบ รวมทั้งยาต้านมาลาเรีย หรือไฮดรอกซีคลอโรควิน ที่ขอมาจากเพื่อน แต่กลับมีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง ทั้งไมเกรนและเวียนศรีษะ

มีผลข้างเคียงเยอะมาก เพราะว่าตั้งแต่กินไปเป็นไมเกรน และปวดหัว บ้านหมุน ทุกอย่างรวมกัน หายใจก็เจ็บปอด หายใจไปก็ไม่มีลมเข้ามา

ประภาพร ใช้เวลารักษา COVID-19 นาน 6 สัปดาห์ ขณะนี้เธอกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สอนโยคะผ่านระบบออนไลน์ ประสบการณ์แห่งความเป็นความตายที่เธอต้องเผชิญ ทำให้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการมีสุขภาพที่ดี

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ประเทศฝรั่งเศส ก็มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่น้อย THE EXIT  พูดคุยกับนางญาณิฐา เงินลาด เจ้าของร้านอาหารไทย ที่อยู่ปารีสมา 7 ปี เธอเป็นครอบครัวแรกๆที่ติดเชื้อ แต่การไปพบแพทย์ก็ค่อนข้างลำบาก และต้องรักษาตัวที่บ้าน

มีวันหนึ่งรู้สึกว่าลิ้นไม่รับรส คิดว่าต้องเป็น COVID-19 เมื่อไปหาหมอยอมตรวจให้พบว่าติดเชื้อจริงๆ ซึ่งในยุโรปครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวแรกๆที่ติดเชื้อ การไปหาหมอยากลำบาก เพราะคนติดเชื้อเยอะ สถานพยาบาลต้องรองรับเฉพาะคนไข้ที่อาการหนักจริงๆ

 

ทั้งญาณิฐา และสามีเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ต้องรักษาตัวเองที่บ้าน ใช้ยาลดไข้เป็นหลัก แต่ที่ยากลำบากคือเธอต้องดูแลลูกสาววัยขวบเศษ และลูกชายวัย 4 ขวบ ทั้งที่มีอาการป่วย ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้น เธอบอกว่า คิดถึงบ้านและอยากกลับประเทศไทยไปหาครอบครัวที่ จ.ชัยภูมิ

ด้วยความที่อยู่เมืองนอก และเป็นครอบครัวเป็นสังคมเดียวไม่มีญาติที่จะแยกลูกสาวและลูกชายออกไป เพื่อป้องกันติดเชื้อ ยอมรับว่ากลัวจะตาย และอยากกลับมาตายที่บ้านเรา มีพ่อมีแม่  


ขณะที่อีกหนึ่งประสบการณ์จากคนไทยในต่างแดน น.ส.สุชาดา สูนขุนทด มูลเลอร์ คนไทยที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เล่าว่า อาการปวดหัว ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มีไข้หนาวสั่น ไร้เรี่ยวแรง ไม่สามารถทานอาหารได้ กว่า 10 วัน เป็นอาการของ COVID-19 ที่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต  

ร่างกายไม่รับ ไอแบบคอแห้ง ไข้ขึ้นสูง ปวดกระดูก ปวดเนื้อปวดตัว

สุชาดา เล่าว่า ผู้ป่วย COVID-19 ในเดนมาร์กต้องโทรปรึกษาแพทย์ผ่านสายด่วน เพื่อเข้ารับการตรวจ
และรอฟังผลตรวจผ่านอีเมล หรือเข้าไปดูที่เว็บไซต์สาธารณสุข

 

เธอรักษาที่โรงพยาบาลเพียง 4 ชั่วโมง เพราะผลตรวจคลื่นหัวใจปกติ แพทย์จึงให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน และจ่ายยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ 20 เม็ด รักษาตามอาการ ใช้ยาลดไข้ และยาคลายกล้ามเนื้อ รวมระยะเวลาที่ป่วย COVID-19 ทั้งหมด 23 วัน ซึ่งสามีเธอก็ติดเชื้อเช่นกัน แต่อาการไม่รุนแรงช่วงเวลานั้น สุชาดา บอกว่า คิดถึงครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมา และอยากกลับประเทศไทยมากที่สุด

คิดถึงบ้าน เพราะปกติเวลาเจ็บป่วย เราต้องการคนดูแลใกล้ชิด แต่กรณีที่ป่วย ต้องอยู่คนดียว นอนคนเดียวเวลาไข้ขึ้นสูงไม่มีใครมาดูแลเราได้เลย

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ดิฉันได้รับการติดต่อจากคนไทยที่นั่น ซึ่งมีคนในครอบครัวติดเชื้อ แต่ต้องรักษาตัวเองที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลมีเตียงจำกัด คุณผู้ชมสามารถติดตามเรื่องนี้ได้ใน THE EXIT ตอนที่ 2

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง