ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : วิถีประมงไทยภายใต้ พ.ร.ก.การประมง 2558

สังคม
27 ส.ค. 63
18:21
966
Logo Thai PBS
THE EXIT : วิถีประมงไทยภายใต้ พ.ร.ก.การประมง 2558
พ.ร.ก.การประมงปี 2558 เคยได้รับการแก้ไขในปี 2560 แต่ไม่ได้ทำให้ความเดือดร้อนของชาวประมงลดลง ตรงกันข้ามยังทำให้ประมงพื้นบ้าน 22 จังหวัด เดือดร้อนตามไปด้วย ความไม่สมดุลของกฎหมายกับวิถีชีวิตถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร

หลังไม่ได้ออกเรือนานหลายวัน วันนี้เป็นวันแรกที่พวกเค้าเริ่มออกเรือหาเคยใกล้ชายฝั่ง เพื่อมาขายตามท้องตลาดอีกครั้ง

เรือประมงพื้นบ้านประเภทอวนรุนเคยออกจับสัตว์น้ำนอกเขตระยะ 1,000 เมตร นับจากชายฝั่ง หลังกฎหมายอนุโลมให้ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่

 

เครื่องมือคันรุน 1 คู่ กางขนานลงผิวน้ำลึก 2-3 เมตร เป็นวิธีใช้ดักเคยที่อยู่ในน้ำเข้าก้นถุงก่อนจะนำใส่ภาชนะ แต่วันนี้พวกเขาบอกว่าไม่ได้เคยแม้แต่ตัวเดียวเนื่องจากเป็นช่วงมรสุม ตาข่ายกว้างเพียง 2 คูณ 2 มิลลิเมตร เป็นข้อกำจัดการดักเคยเพราะตาข่ายมีขนาดเล็ก ถ่วงน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กไม่สามารถเล็ดลอดออกไปได้

ทีมข่าวได้สำรวจวิถีชาวประมงพื้นบ้านพบชาวบ้านกำลังเก็บอวนเพื่อนำปลามาขาย ขนาดตาข่ายอวยลอยกว้างกว่า 2.5 เซนติเมตร ออกจับปลากุเลาและปลาอินทรีย์ แต่วันนี้พวกเขาได้ปลาไม่ตรงตามเป้าเพราะเจอปัญหาน้ำเสียและมรสุม รวมถึงข้อจำกัดห้ามออกเรือเกิน 3 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่งจึงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง

ปัญหาของประมงพื้นบ้าน คือ ห้ามออกเรือเกิน 3 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง ถูกหยิบยกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการ ว่าอาจเป็นปัญหาทำให้ประมงพื้นบ้านขาดรายได้และแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ที่ถูกจำกัด

 

นางสุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้นำเครือข่ายรักษ์ปลา-รักทะเล กล่าวว่า มาตรา 34 ห้ามเรือประมงเล็กหรือเรือประมงชายฝั่ง ออกนอกชายฝั่ง นี่เป็นเรื่องที่เราต่อสู้กันมานาน ก่อนที่เราจะได้ใบเหลือ ตอนที่เรากำลังร่าง พ.ร.บ.ประมง 2558 อยู่มาตรานี้มันตกไปแล้ว แต่พอถูกพิจารณาเป็น พ.ร.ก.ประมง มาตรานี้ก็กลับเข้ามาใหม่ ซึ่งหากมีการบังคับใช้สิ่งนี้จะเป็นเรื่องที่พี่น้องประมงพื้นบ้านคงยอมไม่ได้ เพราะว่ามันไปจำกัดวิถีชีวิตการทำมาหากินของพวกเขาที่จะไม่ให้ออกนอกชายฝั่ง

 

แม้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ตอบโจทย์กับชาวประมงถึงหลักวิธีปฏิบัติ แต่ส่งผลดีกับแรงงานชาวประมง รวมถึงยกระดับเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ จากสถิติทางวิชาการของกรมประมงมีข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2550 พบมีการลงอวนลาก จับสัตว์น้ำขึ้นมาครั้งละไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม ส่วนปี 2555-2556 เฉลี่ยพบมีการจับสัตว์น้ำเหลือประมาณ 50 กิโลกรัมต่อการลงอวน 1 ครั้ง ซึ่งเปรียบเทียบว่าสัตว์น้ำในเขตประเทศไทยน้อยลงไปทุกขณะจนถึงจุดอันตราย ตั้งแต่มีการเริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในช่วงระยะเวลา 3 ปีหลัง ส่งผลให้สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 นั่นหมายถึงว่าการบังคับกฎหมายนี้มีประสิทธิภาพ

 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของช่วงระยะเวลาของการประกาศเร็วและไม่ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตจริงๆ ของชาวประมง ณ ช่วงเวลานั้น แต่ปัจจุบันจากการยอมรับ และจากความร่วมมือของพี่น้องชาวประมง เชื่อว่า พ.ร.บ.ทุกฉบับ ที่ออกมาคือ กรอบของการควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิดกับทรัพยากรจนเกินขอบเขต

หากทุกคน เข้าใจในกรอบในวิธีคิด ในระเบียบปฎิบัติต่าง ๆ และมุ่งหวังในเรื่องทรัพยากรที่จะฟื้นฟูในอนาคต ภายใต้การยอมรับของทุกภาคส่วน ทิศทางประมงไทยเป็นบวกแน่ในอนาคต

 

แม้กฎหมายนี้ยังไม่ตอบโจทย์ถึงการแก้ไขต้นตอของปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวประมงที่ต้องการให้แก้ไขมาตราบางข้อ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต แต่เชื่อว่าข้อกฎหมายนี้ เมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และเมื่อสัตว์น้ำเพาะพันธุ์โตเต็มวัยก็อาจเป็นขุมทรัพย์รายได้หลักของชาวประมงในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : เสียงสะท้อนอาชีพประมงภายใต้ พ.ร.ก.การประมง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง