วันนี้ (26 ส.ค.2563) ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 1 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยเดินทางกลับจากอินเดียอยู่ใน State Quarantine รวมผู้ป่วยสะสม 3,403 คน หายป่วยแล้ว 3,237 คน มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่มขึ้น 8 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 108 คน และเสียชีวิตคงที่ 58 คน
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการสนับสนุนจากรัฐบาลร่วมกับ นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายอนุทิน ระบุว่า ครม.อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 600 ล้านบาท สำหรับการเจรจาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ส่วนอีก 400 ล้านบาท สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโดยเร็ว
ด้าน นพ.เกียรติรักษ์ ระบุว่า ผลการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิด mRNA ในหนู ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 50,000 ไตเตอร์ ในลิงก็กระตุ้นภูมิได้ถึง 30,000 ไตเตอร์ อยู่ระหว่างรอผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนระยะที่ 1 แต่ขณะนี้ประสบปัญหาการผลิตอาจต้องล่าช้าออกไปจากแผน เนื่องจากวัคซีนที่มีการวิจัยทั่วโลกมีกว่า 200 ชนิด กว่า 140 ชนิด อยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ และ 42 ชนิดเริ่มทดลองในคนแล้ว ส่งผลให้โรงงานผลิตวัคซีนในสหรัฐอเมริกาคิวเต็ม เดิมจะผลิตวัคซีนต้นแบบ 10,000 โดส เพื่อเดินหน้าทดลองในคนเดือน ต.ค.นี้ ต้องเลื่อนออกไปประมาณ 1-2 เดือน
ส่วนเรื่องอาสาสมัคร ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ขอให้รอคณะกรรมการกลาง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ต้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐาน จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยในคนต่อไป หากพร้อมจึงจะรับสมัคร