วันนี้ (26 ส.ค.2563) เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 24,048,856 คน เสียชีวิต 823,180 คน โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุด 5,955,728 คน และเสียชีวิตแล้ว 182,404 คน รองลงมาคือ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้
ขณะที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 หลังองค์การอนามัยโลก ประกาศเตือนเอเซียแปซิฟิกเผชิญการระบาดระลอก 2 ว่าจากข้อมูลในต่างประเทศจะเห็นได้ว่า การติดเชื้อระลอกใหม่ในหลายประเทศรุนแรงกว่ารอบแรก
ขณะที่บางประเทศพบการติดเชื้อโดยไม่รู้แหล่งที่มา หรือบางประเทศพบการติดเชื้อจากสินค้าแช่แข็ง หรือสินค้าที่มาจากกระบวนการขนส่ง และ 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้ออายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่แสดงอาการ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ดังนั้นแม้ไทยจะควบคุมการระบาดได้ดี ไม่พบการติดเชื้อในประเทศ ก็อย่าคิดว่าปลอดภัย จำเป็นต้องเฝ้าระวังกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นพิเศษ เพราะการ ผ่อนปรนกิจกรรม-กิจการ ก็เป็นคนกลุ่มนี้ที่ออกมาทำกิจกรรม
ทั้งนี้หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ต้องยึดหลักการควบคุมโรคเฉพาะจุด หรือ Tageted Intervention ดีที่สุด คือ พบการติดเชื้อแต่ต้องไม่แพร่ระบาด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่าภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ ต้องช่วยกันอย่าการ์ดตก หรือหย่อนมาตรการ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องล็อกดาวน์ประเทศเหมือนการระบาดรอบแรก โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชันไทยชนะไว้เช่นเคย ขณะที่ผู้ใช้บริการช่วยกันเช็คอิน-เช็คเอาท์ทุกครั้ง และงดใช้บริการสถานประกอบการที่หย่อนมาตรการ เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี