สภาพภูมิประเทศของต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร มีลำห้วยคดเคี้ยวไหลผ่านหลายสายทำให้เทศบาลตำบลกุดเชียงหมี ยื่นขอโครงการขุดลอกและสร้างฝายจำนวน 44 โครงการ งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท ภายใต้โครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มีผู้รับเหมาเข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แต่ จ.ส.ต.สมพงษ์ สิทธิพงษ์ ปลัดเทศบาลตำบลกุดเชียงหมี ยืนยันว่าเทศบาลได้ประโยชน์
ลำห้วยยาง 500 เมตร ถ้ามีการทำสัญญาถูกต้อง ตามระเบียบของทางราชการ คิดว่าทางเทศบาล จะได้ประโยชน์ เพราะเส้นทางมากกว่าคู่สัญญา แต่มีการทำไปก่อนทำสัญญาก็จะเป็นประโยชน์ 100% เทศบาลโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ผู้รับเหมา
เอกสารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ฉบับลงวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีอปท.ในจังหวัดยโสธร เสนอของบประมาณแก้ภัยแล้ง 366 โครงการ สามารถเตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้าง แต่ต่อมาปลายเดือนมิ.ย. มีหนังสือแจ้งว่ามีโครงการที่ได้รับอนุมัติเพียง 186 โครงการ มีหลาย อปท.ที่ถูกตัดโครงการที่ขอไปทั้งหมด และนี่เป็นข้อมูลอีกด้าน
ต.เลิงนกทาของกุดชุม ได้ตำบลละ 10-20 ล้านบาท ของผมแค่ 1,380,000 บาทมาตัดของผมออกไป ทำไมไม่ไปตัดคนที่ได้โครงการเยอะๆ ผมบอกว่าได้ 1,380,000 บาท เขาถามผมว่าจะเอาแบบซื้อหวย หรือเอาแบบได้เลย
ไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลจากจากผู้บริหาร อปท.แห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร เขาอ้างว่า หลังจากที่ อบต. เสนอขอโครงการไป และผ่านการพิจารณาในระดับจังหวัด และ สทนช. เข้าสู่ช่วงการพิจารณาของสำนักงบประมาณ และทางจังหวัดแจ้งให้อบต.เตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ระหว่างนั้นมีผู้ติดต่อมาหาเขา บอกว่า ต้องตกลงทำสัญญากับผู้รับเหมารายหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ตกลงโครงการจะถูกตัด แต่เขาไม่รับปาก ก่อนจะพบว่า โครงการที่ขอไปไม่ได้รับการอนุมัติ
เขาบอกว่าเขาเป็นคนซื้องานมา เขาได้ประโยชน์ในส่วนนี้ เขาไปวิ่งเต้นซื้องานจากสำนักงบประมาณมาก ผมก็งงว่ากระบวนการอย่างนี้ ก็มีอยู่เหรอ
พิรุธงบแก้ภัยแล้งกระจุกตัว
ไทยพีบีเอสพบว่า โครงการแก้ภัยแล้งที่ได้รับการอนุมัติ 186 โครงการ ของ อปท. 15 แห่ง แต่ละแห่งได้รับการอนุมัติไม่เกิน 20 โครงการ เทศบาลต.กุดเชียงหมี ได้รับอนุมัติมากที่สุดถึง 44 โครงการ และ อปท.ในอำเภอเลิงนกทา ได้รับอนุมัติรวมกันกว่า 84 โครงการ มากกว่าทุกอำเภอในจังหวัดยโสธร
จากจ.ยโสธร ไทยพีบีเอส เดินทางไปที่จ.ร้อยเอ็ด ชาวบ้านใน อ.เมืองสรวง ต่างผิดหวังหลังทราบว่าไม่ได้รับอนุมัติโครงการขุดลอกแก้ปัญหาภัยแล้ง พวกเขาบอกว่า การขุดลอก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถทำให้แหล่งน้ำกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายคูณ ฤทธาพรม ผญบ.ผำ ม.3 ต.เมืองสรวง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า อยากให้เทศบาลของบประมาณให้ แต่ไม่รู้ว่าจะให้งบมากน้อยแค่ไหน เวลาประชุมประชาคมมีผู้เสนอว่าอยากขุดร่องบักจ่อยให้ลึก อยากให้กักเก็บน้ำ ทำฝายชะลอน้ำเป็นขั้นตอน เพื่อว่าแต่ละระยะ จะได้สูบน้ำใช้ในการเกษตร เราอยากทำเป็นโครงการทั้งลำน้ำ
โครงการขุดลอก เป็นโครงการที่ภาครัฐทุ่มงบประมาณมาดำเนินการทุกปี แต่บางโครงการ ชาวบ้านก็ไม่ต้องการ นี่คือสภาพคลอง น้ำสาธารณะบ้านสีสุก ต.กกกุง ขุดลอกโดยงบ จ.ร้อยเอ็ด กว่า 400,000 บาท ก่อนหน้านี้ มีหลายหมู่บ้านที่ปฏิเสธโครงการนี้
นายหนูคล้าย บัวขาว ผญบ.สีสุก ม.2 อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า ฝนตกลงมา น้ำขัง ทำให้หน้าดินพังลงไป ทำให้คลองตื้นเขินเหมือนเดิม เพราะว่าดินทั้งสองข้างพังเข้าหากัน
ทางแก้ผมอยากให้ผู้มีอำนาจ อยากให้มีงบลงมาอีก มาลงหินลูกรัง อัดบดถนน พอให้เกษตรกรสัญจรได้สะดวก
ไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลจากผู้รับเหมาขุดลอกแหล่งน้ำรายย่อยคนหนึ่งในจ.ร้อยเอ็ด เขาอธิบายรูปแบบของการแสวงหาผลประโยชน์ จากโครงการขุดลอก เริ่มจากหน่วยงานภาครัฐจัดทำโครงการ มีผู้รับเหมารายใหญ่ได้ทำสัญญา โครงการถูกหักเงินทอน ก่อนส่งต่อโพยงานให้นายหน้านำงานมาขายช่วงให้ผู้รับเหมารายย่อยในพื้นที่ ผู้รับเหมาที่ขุดลอกจริง ได้รับเงินประมาณร้อยละ 40 ของงบประมาณ
เมื่อได้รับเงินน้อย การขุดลอกจึงทำเพียงแค่ขุดดินมาวางริมตลิ่งเท่านั้น ปัญหาร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามตรวจสอบ และเร่งรัดโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า