ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผวาหลุมยุบ จ.พิษณุโลก นักธรณีวิทยา คาดน้ำใต้ดินแห้ง

สิ่งแวดล้อม
18 มิ.ย. 63
11:28
2,454
Logo Thai PBS
ผวาหลุมยุบ จ.พิษณุโลก นักธรณีวิทยา คาดน้ำใต้ดินแห้ง
กรมทรัพยากรธรณี ทสจ.พิษณุโลก สำรวจหลุมยุบขนาดใหญ่กว่า 7 เมตรกลางไร่ข้าวโพด ยังต้องระวังรอบพื้นที่ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มหรือไม่ คาดสภาพธรณีเป็นหินปูนเมื่อระดับน้ำใต้ดินแห้งแล้ง ประกอบกับมีฝนตกลงมาดินที่อุ้มน้ำด้านบนไม่ไหวจึงทรุดตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่

กรณีชาวบ้านแจ้งให้เจ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบหลุมยุบขนาดใหญ่ บริเวณ บ้านมุง หมู่ 2 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก วันนี้ (18 มิ.ย.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต1 (ลำปาง) ที่เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุหลุมยุบ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานข้าตรวจสอบหลุมยุบ 

นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า หลุมยุบขนาดกว้าง 7.60 เมตร ยาว 7.70 เมตร ความลึก 2.6-3 เมตร เกิดบริเวณไร่ข้าวโพด ห่างจากถ้ำเดือนถ้ำดาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งโชคดีที่หลุมยุบไม่เกิดในพื้นที่ชุมชน จึงไม่อันตรายมาก แต่ก็ถือว่ามีความน่ากลัว โดยทางกรมทรัพยากรธรณี จะลงสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ว่ามีรอบๆ มีรอยแยกรอยแตกเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าเจอรอยแยกอาจจะเสี่ยงที่หลุมจะขยายความกว้าง และอาจเกิดในจุดอื่นๆได้ โดยจะเตือนชาวบ้านให้ช่วยเฝ้าระวัง สังเกตสิ่งผิดปกติ

สาเหตุเพราะพื้นที่รอบๆ เป็นหินปูน สามารถละลายน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆได้ เมื่อน้ำใต้ดินที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆไหลผ่านทำให้หินปูนละลายจนกลายเป็นโพรงใต้ดิน เมื่อระดับน้ำใต้ดินมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะแห้งแล้ง และมีฝนตกลงมาทำให้ตะกอนชั้นบนอุ้มน้ำ เพิ่มแรงกดทับจนเพดานโพรงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงเกิดการทรุดตัวลงมากลายเป็นหลุมหยุบ 
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

 

ดร.น้ำฝน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ใกล้เคียง เคยเกิดหลุมยุบลักษณะเดียวกันมาแล้ว 2-3 ครั้งในปีเคยเจอปี 2558 และหมู่ที่  1 และหมู่ที่ 2 เพราะสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นชั้นตะกอนทรายปนดินเหนียวที่รองรับด้วยหินปูนในระดับตื้น 

ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณี และทสจ.พิษณุโลก ได้แนะนำให้เทศบาลต.บ้านมุงและประชาชน เฝ้าระวังและสังเกตการขยายตัวของหลุมยุบอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบการเปลี่ยนแปลง ให้ทำการฝังกลบตามหลักวิศวกรรม โดยเริ่มจากการถมก้อนหินที่มีขนาดใหญ่เท่าที่จะหาได้ในพื้นที่ลงไปก่อน แล้วถมดินลูกรังอัดตามลงไปจนเต็มหลุม พร้อมกดทับให้แน่น ในขณะที่ถมดินให้ฉีดน้ำทุกระยะ และหากพบว่าหลุมยุบมีการขยายตัว และมีรอยแตกหรือสิ่งผิดปกติในบริเวณใกล้เคียงให้แจ้งทันที

 

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง