ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอล็อต" ทึ่งธรรมชาติฟื้นเทียบ 100 ปี สัตว์ป่ายึดคืนพื้นที่

สิ่งแวดล้อม
12 มิ.ย. 63
15:30
4,790
Logo Thai PBS
"หมอล็อต" ทึ่งธรรมชาติฟื้นเทียบ 100 ปี สัตว์ป่ายึดคืนพื้นที่
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ "หมอล็อต" นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน เทียบปิดอุทยานช่วง COVID-19 ธรรมชาติชาติฟื้นตัวเหมือนย้อนไป 100 ปีก่อน สัตว์ป่าหายากใช้ชีวิตในพื้นที่แบบอิสระ ปรับพฤติกรรมห่างจากมนุษย์ ด้านอาจารย์ศศิน หนุนเที่ยวอุทยาน New Normal

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้อุทยานแห่งชาติปิดการท่องเที่ยวนานเกือบ 3 เดือน ทำให้ธรรมชาติเริ่มฟื้นฟูตนเอง สัตว์ป่ากลับคืนสู่พื้นที่ ปรากฏเป็นภาพหายากที่สร้างความประทับใจให้ใครหลายๆคน ล่าสุดวันนี้ (12 มิ.ย.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมระยะ 4 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ 

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน


นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ช่วงที่ปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศกว่า 2 เดือน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมามักมีความเชื่อว่าการฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกทำลายเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน และต้องใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย แต่เมื่อมี COVID-19 กลับกลายเป็นว่าเพียงแค่ทุกคนนอนอยู่บ้าน ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ธรรมชาติก็สามารถกลับมาฟื้นฟูได้

ธรรมชาติพยายามที่จะฟื้นฟูตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่มนุษย์หยุดเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ปราศจากการรบกวนในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดจาก COVID-19 เพราะ COVID-19 เป็นเพียงโรคที่ทำให้คนเกิดการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกคนให้ความร่วมมือ จนส่งผลให้ธรรมชาติกลับมา


หลังจากเริ่มมีการผ่อนปรน เรื่องการกำหนดปฏิทินวันหยุดธรรมชาติควรเป็นสิ่งที่น่าจะมีขึ้น รวมถึงข้อปฏิบัติในการท่องเที่ยวที่ต้องมีเพิ่มมากขึ้น หากทุกคนให้ความร่วมมือ เราจะเห็นธรรมชาติในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เราเที่ยวได้ ธรรมชาติก็อยู่รอดได้ หรือแม้แต่ได้สัมผัสกับพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์ป่าที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ภาพที่ไม่เคยเห็น เหมือนธรรมชาติย้อนกลับไป 100 ปี

ก่อนหน้านี้จะเห็นพะยูนรวมฝูงกัน หรือแม้แต่การรวมฝูงของสัตว์ป่าหลายชนิด สิ่งที่ได้ตามมาคือ ลูกสัตว์ป่าที่มีความแข็งแรงทางพันธุกรรม และได้สัตว์ป่าที่มีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมาจะกระจายกันอยู่ กระจายกันหากินเพื่อเอาตัวรอด แต่เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาปัจจัยที่กำหนดความหลากหลายทางพันธุกรรมคือพื้นที่ป่า หรือพื้นที่เกาะ ทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันเองจนเป็นเลือดชิด ลูกออกมาก็อ่อนแอ ร่างกายพิการ หรืออาจมีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธุ์


เรื่องปฏิกิริยาของสัตว์กับคน หลังจากเริ่มมีระยะห่าง สัตว์จะเริ่มใช้สัญชาตญาณ และหลีกเลี่ยงคนมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีลูกของสัตว์ที่เกิดมาในช่วงที่ผ่านมาแล้วไม่เคยกินขยะเลย ก็จะมีสัญชาตญาณแบบนั้นไปตลอด หากคนร่วมมือกันก็จะไม่สร้างพฤติกรรมคุ้ยกินขยะให้สัตว์ใหม่ๆ อีกต่อไป

สังคมของสัตว์ป่าเหมือนย้อนเวลาไปประมาณ 100 ปี ที่สัตว์มีสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการรบกวนของคน เป็นเครื่องยืนยันว่าเราทำได้ อย่าไปยกย่อง COVID-19 แต่ให้ชื่นชมตนเองที่ให้ความร่วมมือ

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ถนนในอุทยาน ที่เดิมสัตว์ป่าจะหลีกเลี่ยง เพราะมีรถยนต์สัญจรไปมา หลายครั้งก็เกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อไม่มีรถสัญจร จนกลายเป็นที่โล่งที่สัตว์ต้องการอยู่แล้ว เพราะพื้นถนนมีความอบอุ่น และสองข้างทางเป็นแหล่งอาหาร ทำให้สัตว์ป่าออกมาวิ่งเล่นและพักผ่อนบนถนนทั้งเลียงผา หมูป่า ลูกกระทิง คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการปรับตัวกับสิ่งปลูกสร้าง สัตว์สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช


อีกส่วนที่รู้สึกมหัศจรรย์หลังลงสำรวจพื้นที่อุทยานฯ พบว่า ถนนที่เข้าไปในป่ามีผีเสื้ออยู่ตลอดเส้นทางกว่า 8 กิโลเมตร เรียกว่าเป็นถนนผีเสื้อก็ได้ ทั้งที่ปกติผีเสื้อ จะอาศัยอยู่บริเวณแหล่งน้ำ สาเหตุที่ทำให้ผีเสื้อมาบินบนถนน เพราะว่ามีสัตว์ป่าหลายชนิด ทั้งช้าง เก้ง กวาง กระทิง มาอึมาฉี่บนถนน ทำให้ผีเสื้อตามมาและมาบินตลอดเส้นทาง เป็นอันซีนที่น่าประทับใจมาก

โจทย์ของมนุษย์ ณ เวลานี้ เรื่องการท่องเที่ยว คือ เราจะทำอย่างไรให้ภาพสวยงามเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป เพราะถือเป็นการพลิกธรรมชาติกลับมา ผมอยากให้ทุกคนเก็บภาพธรรมชาติ ณ ตอนนี้ เป็นเครื่องเตือนความจำว่าเกิดขึ้นจากความร่วมมือของเรา ที่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และร่วมกันทำต่อไป

เที่ยวอุทยานฯ วิถีใหม่ ไม่ทำลายวิถีสัตว์ป่า

หลังมีการเปิดท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ควรกังวล คือ การเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังนั้น ต้องเตือนนักท่องเที่ยวว่า ไม่ควรขับรถเร็วจนอาจเกิดอุบัติเหตุ แต่สัตว์ก็จะมีการปรับตัวเช่นกัน โดยในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีการเปิดท่องเที่ยวอาจทำให้สัตว์รู้สึกห่างไกลจากมนุษย์ และไม่ไว้ใจเหมือนช่วงที่เปิดการท่องเที่ยวที่มนุษย์มีการให้อาหาร ดังนั้น เทรนด์ใหม่ของมนุษย์ก็ต้องเกิดขึ้นโดยอาจต้องแต่งกายเป็นสีเขียว สีดำ ไม่เป็นสีฉูดฉาดจนทำให้สัตว์ตกใจ และต้องไม่มองข้ามเรื่องการเกิดโรคระบาด เพราะต้นตอสำคัญมาจากสัตว์ป่า


สำหรับการท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติก็มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคจากสัตว์ จึงต้องมีการปรับการท่องเที่ยว อย่างอุทยานฯ ที่เป็นธรรม อาจต้องมีการใส่หมวกคลุมผม ใส่แว่นตาใส ใส่ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากมูลค้างคาว หรือเชื้อโรคจากค้างคาว รวมถึงการห้ามรับประทานอาหารในถ้ำซึ่งห้ามอยู่แล้ว เชื่อว่าเทรนด์นี้จะเป็นเทรนด์ของคนทั้งโลก ซึ่งคนทั้งโลกก็รอคอยที่จะไปท่องเที่ยวกัน

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน

ภาพ : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน


ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ภัทรพล เสนอว่า หลังจากนี้หากมีการเปิดท่องเที่ยวจะต้องมีการจัดการจำนวนการเข้าท่องเที่ยว (carrying capacity) การกำหนดโซนนิ่ง และมาตรการเพิ่มเติมในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ eco health ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเด่นของประเทศไทยในการท่องเที่ยว อาจเป็นโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย

"ศศิน" ชี้นักท่องเที่ยวต้องการธรรมชาติ 

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เห็นด้วยกรณีกลับมาเปิดท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติอีกครั้ง หลังปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 โดยขณะนี้สถานการณ์ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นและตัวเลขผู้ป่วยลดลง ถึงเวลาผ่อนคลายให้ประชาชนได้พักผ่อน โดยเฉพาะในพื้นที่เปิด ไม่แออัด


นายศศิน ระบุว่า ไม่กังวลประเด็นสัตว์ป่าจำนวนมากที่ออกมาในช่วงปิดการท่องเที่ยว เนื่องจากอุทยานฯ ดูแลด้วยการโซนนิ่ง เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเพียงร้อยละ 5 จากพื้นที่ทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เมื่อคนไม่เข้าไปท่องเที่ยวจึงพบว่าสัตว์ป่าออกมาจำนวนมาก โดยเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่และพนักงานในหน่วยงานราชการ สามารถควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวและพื้นที่ได้ หากตั้งใจดำเนินการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19

ตอนนี้ตัวเลขสวยแล้ว ประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว อุทยานฯ เป็นฟังก์ชั่นที่ไม่แออัดมาก ช่วยให้คนหายเครียดได้ คนก็ต้องการธรรมชาติ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1 ก.ค.นี้ เปิด 127 อุทยานฯ - จำกัดนักท่องเที่ยว

เช็กขั้นตอนก่อนเที่ยวอุทยาน New Normal

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง