บ้านปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรกลางเมืองนครราชสีมา เป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายของครอบครัว "ประนอม อนุกุล" หลังจากเกษียณอายุราชการ ขณะนี้บ้านราคา 2,470,000 บาท ของนางประนอม ตกเป็นของธนาคารออมสิน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว
ประนอม ผู้ค้ำประกันซื้อรถยนต์ให้กับคนรู้จักกันในช่วงรับราชการครูก่อนเกษียณ แต่เมื่อลูกหนี้ไม่มีเงินไปชำระค่าผ่อนรถ บริษัทไฟแนนซ์จึงเรียกค่าชดเชยหนี้สินจากผู้ค้ำประกัน ซึ่งทรัพย์สินที่เหลือชิ้นสุดท้ายของประนางประนอม คือ บ้านหลังนี้
ตอนนี้ครูก็ยังอยู่ในบ้านหลังนี้ เพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย และเสียใจมากที่สุดเพราะทำมาทั้งชีวิต เหตุก็เกิดเพราะเราไปค้ำประกัน ไปไว้ใจคนอื่น ครอบครัวยังอาศัยในบ้าน 8 ชีวิต ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง
ก่อนหน้านี้ เธอได้รับการติดต่อจากไฟแนนซ์เพื่อไกล่เกลี่ยชดเชยค่าเสียหายที่ยังคงเหลือจากผู้ซื้อรถจำนวน 400,000 บาท แต่ไม่สามารถหาเงินมาผ่อนจ่ายได้ทันเวลา บริษัทไฟแนนซ์รถยนต์ฟ้องศาลเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ บ้านจึงเข้าสู่การกระบวนการขายทอดตลาดและมีเวลาเพียง 15 วัน หลังจากได้รับหมายแจ้งขายทอดตลาด เพื่อซื้อบ้านของตัวเองคืน
การตรวจสอบข้อมูลคดีที่เตรียมขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี พบว่า ปัจจุบันมีทรัพย์สินที่เตรียมขายทอดตลาด 1,437,000 คดี แต่ในช่วงนี้ต้องพักการขายทอดตลาด เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19
อาจิน จุ้นลก รองประธานมูลนิธิสุภาวงศ์เสนาเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขนี้กำลังน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นเตรียมขายทอดตลาดเป็นจำนวนมาก บางส่วนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ ซึ่งหลายรายนำมาสู่กระบวนการขายทอดตลาด
ฝั่งลูกหนี้บอบช้ำหลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่สัญญาที่ไม่เป็นธรรมมาถึงขั้นตอนขายทอดตลาด ถือเป็นความรุนแรงทางแพ่ง
อาจิน ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการขายทอดตลาดในปัจจุบันเป็นวิธีการไม่ชอบธรรมต่อลูกหนี้ เนื่องจากระยะเวลาซื้อทรัพย์คืนมีจำกัด อีกทั้งกฎกระทรวงฉบับใหม่ว่าด้วยการขายทอดตลาด อาจทำให้ไม่สามารถปัญหาหนี้สินและหนี้นอกระบบได้ เพราะลูกหนี้ไม่มีเวลาคัดค้านการขายทอดตลาด หรือเจรจาเพื่อซื้อทรัพย์สินคืนได้
จริงอยู่เจ้าหนี้อาจบอกว่าลูกหนี้จะได้ชำระหนี้เร็วขึ้น แต่ฝั่งลูกหนี้ไม่มีใครช่วยเหลือ หรือเหลียวแลเลย ประกาศขายทอดตลาดไปถึงบ้าน 5 วันแล้วขายทอด จะเตรียมอะไรทันในช่วงสถานการณ์นี้
ขณะที่เสกสรร สุขแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงการเปลี่ยนข้อกำหนดการขายทอดตลาด ว่า การออกกฎกระทรวงฉบับใหม่เพื่อแก้ปัญหาการขายทอดตลาดที่ล่าช้า ทำให้มีทรัพย์สินตกค้างจำนวนมาก ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการขายทอดตลาดที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่แตกต่างไปจากเดิม
ด้านเครือข่ายปฏิรูปลูกหนี้และตัวแทนภาครัฐ อยู่ระหว่างการตั้งเวทีรับฟังความเห็น เพื่อทบทวนขั้นตอนการขายทอดตลาดใหม่ และนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากรายละเอียดของขั้นตอนการขายทอดตลาด ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสสูญเสียทรัพย์สิน โดยเฉพาะกลุ่มหนี้นอกระบบและลูกหนี้ค้ำประกัน